การร้อยไหม การยกกระชับหน้าด้วยไหม

ก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าการร้อยไหมได้ผลดีหรือไม่จะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไหมทั้งหมด จึงจะสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล

ไหมละลายที่เรียกว่า PDO ที่นำมาใช้ในการร้อยไหม ก็คือไหมเย็บแผลธรรมดาที่ศัลยแพทย์ตกแต่งใช้ในการเย็บแผลเป็นระยะเวลาเนิ่นนานแล้ว เรานำไหมเหล่านี้มาใช้ในเวลาที่มีการผ่าตัดเย็บบาดแผลทั่วไป ทั้งที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด ไหมละลาย PDO ย่อมาจาก polydioxanone เป็นไหมที่มีการละลายโดยวิธี Hydrolysis ซึ่งจะมีปฏิกริยาการอักเสบต่อเนื้อเยื่อน้อย ศัลยแพทย์ตกแต่งจึงนิยมใช้ไหมชนิดนี้ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง เพื่อให้สามารถยึดขอบแผลไว้นานพอที่จะป้องกันการขยับของแผลหลังจากตัดไหมที่เย็บภายนอกออกแล้ว จะได้ไม่เกิดแผลเป็นที่ไม่สวยงาม เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่า คนไข้อุบัติเหตุมีบาดแผลใบหน้าที่ได้รับการเย็บแผลด้วยไหมชนิดนี้แล้ว จะมีผิวหน้าที่กระชับหรืออ่อนเยาว์ลงได้ ดังนั้นการสอดไหมชนิดนี้ลอยๆไว้ใต้ผิวหนังอย่างเดียว จึงเป็นการยากที่จะทำให้ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ใช้ไหม PDO ในการเย็บแผลมานานแล้ว ยอมเชื่อว่าจะช่วยทำให้ใบหน้าตึงกระชับได้

ไหมเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความงามใบหน้าได้อย่างไร?

เริ่มแรกทีเดียวการใช้ไหมก็เพื่อการเย็บเนื้อเยื่อเข้าหากัน ต่อมามีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดดึงหน้าเกิดขึ้น โดยเลาะผิวหนังใบหน้าส่วนที่หย่อนคล้อยยกขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสม จากนั้นก็ต้องใช้ไหมเพื่อเย็บตรึงผิวหนังที่ถูกยกขึ้นมา ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ จนกลายมาเป็นการผ่าตัดมาตรฐานทางศัลยกรรมตกแต่งตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

เทคนิคการดึงหน้านี้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวิธีการที่จะให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดี มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ได้ผลการรักษาที่แน่นอนขึ้น เกิดเป็นวิธีการผ่าตัดดึงหน้าชนิดต่างๆที่ได้ผลดีมากขึ้น และได้ผลยาวนาน (consistent and reliable outcome) เช่น การดึงเนื้อเยื่อในชั้นที่ลึกขึ้น (SMAS face lift) หรือการนำกล้องส่องมาช่วย (Endoscopic face lift)

แต่ในระยะหลังได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างความงามใบหน้ามากขึ้น เช่น การใช้เลเซอร์ หรือคลื่นแสงและเสียงชนิดต่างๆ รวมถึงการฉีดเสริมสวย วิธีการต่างๆเหล่านี้เหล่านี้ แม้ได้ผลไม่มากเท่าการผ่าตัดดึงหน้า แต่ก็เป็นที่นิยมในระดับหนึ่งเพราะ ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ไม่ต้องพักฟื้นนาน พัฒนาการเหล่านี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการการดึงหน้าในอีกแนวทางหนึ่งต่างจากแนวทางที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็คือ หาวิธีการที่ใช้การผ่าตัดที่เล็กลง พักฟื้นไม่นาน ที่เรียกกันว่า minimally invasive surgery เริ่มจากการลดขนาดแผลผ่าตัดลง ที่เรียกว่า minilift จนมาถึงการใช้ไหมยกกระชับใบหน้า คือเน้นการผ่าตัดที่มีบาดแผลเล็กน้อยในที่ซ่อนได้ หรือใช้แค่การสอดไหมหรือวัสดุอื่นเข้าไปเกาะเกี่ยวเนื้อเยื่อ ให้ยกขึ้นมาในลักษณะเดียวกับการดึงหน้า โดยที่ไม่ต้องเปิดแผลกว้าง

การนำไหมมาเพื่อการยกกระชับใบหน้าโดยเน้นการผ่าตัดที่น้อยไปกว่าการผ่าตัดดึงหน้าปกตินั้น มีการทำกันมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ถ้าจะให้เครดิตก็คงต้องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยศัลยแพทย์ชาวรัสเซียซึ่งได้ประดิษฐ์ไหมที่ชื่อว่า Aptos หรือที่เรียกว่า ไหมก้างปลา ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยประมาณปี พ.ศ. 2546-2547

หลักการของไหมนี้ ก็คือ การทำไหมให้เป็นก้างปลา มีการบากเส้นไหมให้เป็นแง่หรือเป็นกิ่งก้านต่างๆ เพื่อให้สามารถยึดเกาะเนื่อเยื่อเอาไว้หากมีการวางทิศทางการสอดไหมได้ดี ส่วนก้างปลาจะช่วยในการเกาะเกี่ยวผิวหนังได้เล็กน้อย ทำให้ใบหน้าส่วนกลาง แก้ม บริเวณลำคอดูยก กระชับบ้างบางส่วน

เมื่อมีการนำไหมมาใช้ ก็มีการพัฒนาต่อไป ศัลยแพทย์ที่นำไหมมาใช้ก็เห็นข้อดีและข้อเสียต่างๆของไหมเหล่านี้ โดยพบว่าไหมที่วางลอยไว้เฉยๆใต้ผิวหนังโหนกแก้มทำให้ร่องแก้มดูดีขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากก้างปลาเกาะเกี่ยวเนื้อมารวมกันที่โหนกแก้ม แต่เมื่อมีการขยับ เนื้อเยื่อที่เกาะเกี่ยวไว้หลวมๆก็จะหลุดออกหรือก้างปลาเองมีการฉีกขาดออก ผลที่ได้จึงอยู่สั้นๆไม่กี่เดือน ไม่ดีเพียงพอ ไม่ยึดอยู่กับที่ มีการตกลงมาตามแรงโน้มถ่วง ศัลยแพทย์จึงพยายามคิดค้นไหมหรืออุปกรณ์แทนไหมที่มีการเกาะเกี่ยวที่แข็งแรงขึ้น มีจุดให้ไหมไปยึด ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยอยู่ในผิวหนัง

พัฒนาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์หลายท่าน แต่ที่มีใช้ในทางการค้าอย่างแพร่หลายมากขึ้น คือ ไหมที่เป็นตะขอที่แข็งแรงกว่าก้างปลาเดิม และไหมรูปกล้วยไอศครีม หรือ รูปโคน ที่มีข้อดีกว่าไหมก้างปลา หรือ Aptos คือไม่มีทางบากไหมเป็นก้างปลาให้สูญเสียความแข็งแรง เมื่อมีการสอดเข็มใส่ไหมเข้าในผิวหนังแล้ว ก็จะดึงไหมขึ้นไปแขวนไว้กับเนื้อเยื่อที่แข็งแรงตรงขมับ จึงจำเป็นต้องมีแผลเล็กๆอีกแผลที่หนังศีรษะส่วนขมับที่มีผม

นี่คือการพัฒนาจากเดิมที่ดีกว่าการใช้ไหมแบบก้างปลาวางไว้เลยลอยๆใต้ผิวหนัง ไม่มีการดึงไปเกาะเกี่ยวในตำแหน่งที่สูงกว่าและแข็งแรง ปัจจุบันมีไหมที่ใช้หลักการนี้หลายชนิด และเชื่อกันว่าแนวทางนี้มีหลักการที่เป็นเหตุเป็นผลที่จับต้องได้ในการยกกระชับใบหน้าด้วยไหมในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การใช้ไหมโดยวิธีนี้ก็มีปัญหาที่ยังต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ ต้องมีการผ่าตัดเล็กๆบริเวณขมับ ถ้าทำไม่ถูกต้องเหมาะสมก็อาจเกิดเป็นคลื่นๆ เห็นจุดบุ๋ม ณ ตำแหน่งที่เกาะดึง ในการที่จะทำการผ่าตัดแบบนี้ให้ได้ผลดี ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์พอสมควร แพทย์ที่สนใจด้านศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยแต่ไม่ได้เรียนเรื่องการผ่าตัดหรือมีพื้นฐานด้านศัลยกรรมตกแต่งเพียงพอ ก็ไม่สามารถทำได้ดี หรือทำได้ก็มีภาวะแทรกซ้อน จึงทำให้ไม่สามาถแพร่หลายและพัฒนาเชิงธุรกิจได้มาก และที่สำคัญ แม้ว่าการคึงหน้าด้วยไหมจะมีข้อดีที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ผลของมันไม่ว่าจะใช้ไหมชนิดใดก็ตาม ก็ไม่ดีเท่ากับการผ่าตัดดึงหน้า จึงไม่สมควรที่จะมีการนำมาทำการโฆษณาว่าดีพอๆกับการดึงหน้า

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีการพัฒนาไหมอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาใช้ จากประเทศในเอเซียเรานี่เอง โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ ทำได้ง่าย แพทย์ทั่วไปหรือแม้แต่พยาบาลหากได้ผ่านการฝึกฝนจากผู้ขายก็สามารถทำได้เลย และเป็นไหมละลาย เพื่อว่าถ้าทำไม่ถูกต้องก็จะละลายหายไป ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ถาวร ที่สำคัญเมื่อร่วมกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ทำกันอย่างมาก ทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างรวดเร็วในประเทศไทย จนอาจกล่าวได้ว่าไหมชนิดนี้นิยมในเมืองไทยมากกว่าในเกาหลีที่เป็นผู้ผลิตไหมเช่นนี้เอง และต้องยอมรับว่าในบ้านเรามีสิ่งที่เรียกว่า กระแสเห่อเกาหลีของคนไทย อะไรก็ตามที่มาจากเกาหลีก็รับมาใช้โดยขาดการไตร่ตรองอันควร

ร้อยไหมได้ผลจริงหรือ

ปัจจุบันมีหลายบริษัทนำเข้าไหมละลายเข้ามาในบ้านเรา โดยแจ้ง อ.ย. ว่าเป็นไหมเย็บแผล แต่กลับนำมาใช้ในการยกหน้า ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. ไหมชนิดนี้คือไหมเย็บแผลชนิดละลายได้ นำมาติดกับเข็มกลวงสำหรับใช้พาไหมเข้าใต้ผิวหนัง แล้วดึงเข็มออก ตัวไหมจะค้างอยู่ใต้ผิวหนัง โดยไม่มีการเกาะเกี่ยวเนื้อเยืิิ่อของผิวหน้าไปยังจุดยึดที่อื่น


ผู้ผลิตอธิบายให้แพทย์ที่จะซื้อมาใช้ว่า กลไกการทำงาน คือ ไหมกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนซึ่งจะทำให้ผิวหน้ากระชับขึ้น พร้อมการสาธิตวิธีการใช้ โดยจะพบว่าหล้งสอดไหมใหม่ๆ ผิวหน้าบริเวณนั้นดูตึงขึ้น จริงๆแล้วก็คือการบวมที่เป็นผลจากการใช้เข็มสอดใต้ผิวหนังหลายๆครั้ง และมีเลือดออกด้านในตามรอยเข็มบ้างเล็กน้อย การบวมตึงที่่โหนกแก้มทำให้ร่องแก้มดูจางลงเล็กน้อย แต่ในภายหลังเมื่อยุบบวมแล้ว ก็จะดูไม่ต่างจากเดิมมาก

นอกจากนี้ ผู้ผลิตจะพยายามอธิบายว่า การละลายของไหมจะทำให้เกิดปฏิกริยาต่อร่างกาย อันนำไปสู่การกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวหน้าดูดีขึ้นอีกหลายๆปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การละลายของไหมชนิด PDO นี้ เกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Hydrolysis ซึ่งมีปฏิกริยาต่อผิวหนังน้อย ไม่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนมากนัก ทำให้ศัลยแพทย์ตกแต่งสามารถมาใช้เย็บแผลทั่วไป ถ้าเป็นไหมที่กระตุ้นคอลลาเจนมากก็จะเกิดแผลเป็นมาก คงไม่มีใครนำมาใช้

ในปัจจุบันนี้คอลลาเจนถูกนำมาใช้เป็นจุดขายที่สำคัญในวงการความงามทุกระดับ เริ่มตั้งแต่อาหารเสริมมาจนถึงศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถจะทราบได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ แม้กระทั่งแพทย์ทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานที่เพียงพอ ก็ม้กจะถูกชักจูงให้ใช้เครื่องมือแพทย์ใหม่ๆที่โฆษณาว่ามีการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน มีการแสดงภาพการเกิดคอลลาเจนหลังการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ทั้งที่ความจริงแล้วคอลลาเจนเป็นเพียงกลไกปกติของร่างกายต่อการบาดเจ็บ (metabolic response to injury) การใช้พลังงานพวกเลเซอร์ คลื่นวิทยุ หรือแม้กระทั่งเข็มเล็กๆธรรมดา ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บใต้ผิวหนัง ร่างกายก็จะมีขบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติ (wound healing) คือ ปวด บวม แดง ร้อน ตามด้วยการซ่อมแซมให้แผลหายโดยสร้างคอลลาเจน ถ้าซ่อมแซมมากเกินไปก็จะเกิดแผลเป็น กล่าวอย่างง่ายๆ แผลเป็นคือคอลลาเจนที่มีมากเกินไป

การสร้างคอลลาเจนเพื่อการหายของแผลคือกลไกปกติของร่างกาย ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ไม่ว่าจะเป็นไหมละลายหรือไม่ละลาย ร่างกายก็จะมีการอ้กเสบ มากหรือน้อยแล้วแต่ชนิดของสิ่งแปลกปลอม ผลที่ตามมาคือ การบวม ซึ่งอาจช่วยให้ดูดีขึ้นเล็กน้อย ชั่วคราวไม่นาน และไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าจะสามารถยกผิวหน้าได้ดังที่โฆษณากันมากมายในประเทศไทย

ยังมีไหมอีกชนิดที่มีการนำมาสอดใส่ใต้ผิวหนังโดยไม่มีการดึงยก คือ “ไหมทอง” ซึ่งมีมาก่อนการใช้ไหมละลาย ทำด้วยทอง อาจมีลักษณะคล้ายกับไหมก้างปลาของเดิม ทำให้เกาะเกี่ยวได้บ้าง หรืออาจจะไม่มีการเกาะเกี่ยว มีแค่การสอดใส่เข้าไปเฉยๆ หลักการของไหมทองนี้จึงเหมือนกับไหมละลายที่มีมาภายหลัง ที่หวังว่าทองจะกระตุ้นผิวหนังให้มีการสร้างคอลลาเจน ใบหน้าจะดูอ่อนเยาว์ขึ้น ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ ไหมทองย่อมมีการกระตุ้นคอลลาเจนที่นานกว่าไหมละลาย เพราะทองไม่ละลายและจะกระตุ้นกลไกการซ่อมแซมของร่างกายตลอด ดูเหมือนจะดีกว่าไหมละลายถ้ามองในแง่การสร้างคอลลาเจนอย่างเดียว

ปัจจุบันนี้คงจะทราบกันดีแล้วว่า ในบ้านเรามีข้อถกเถียงกันเรื่องไหมทองกัับการใช้ เครื่อง MRI ในการตรวจสุขภาพร่างกายว่า MRI สามารถทำให้ไหมเคลื่อนที่จนเกิดปัญหาได้ ประโยชน์ที่ได้จากการที่สอดไหมทองที่ใบหน้าอาจจะไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทำให้ไหมทองได้รับความนิยมน้อยลง น้อยกว่าไหมละลายที่แม้จะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้น้อยกว่า แต่ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ทำได้ง่ายกว่า

โดยสรุป การใช้ไหมละลายสอดใส่ไว้ลอยๆในผิวหน้า แม้จะทำได้ง่าย มีข้อแทรกซ้อนน้อย (ถ้าไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น) แต่ผลที่ได้รับไม่น่าจะดีตามที่มีการโฆษณากันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน กลไกการกระตุ้นคอลลาเจนเนื่องจากการทำให้เกิดการบาดเจ็บและขบวนการละลายของไหมเย็บแผลธรรมดาที่ศัลยแพทย์ตกแต่งใช้กันมานานหลายสิบปี ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย และไม่แตกต่างกับการทำให้เกิดการบาดเจ็บโดยเครื่องมือ high techทั้งหลายที่ใช้คลื่นเสียงหรือคลื่นวิทยุ ความจริงแล้วการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ยังมีรายงานทางการแพทย์ที่สนับสนุนมากกว่าการร้อยไหมเหล่านี้มาก สิ่งที่ต่างกันคือมีการบวมเพิ่มจากปริมาณไหมที่ใส่เข้าไป เหมือนการฉีดสารfiller ที่ไม่ถาวรเท่านั้น ศัลยแพทย์ตกแต่งถือว่าวิธีการร้อยไหมหรือการใช้เครื่องมือกระตุ้นเหล่านี้ได้ผลแค่เป็นการเสริมการผ่าตัด หรือเป็นทางเลือกของคนที่ไม่ต้องการผ่าตัดเท่านั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้หวังผลการเปลี่ยนแปลงมากนัก ต้องมีการทำซ้ำๆ ซึ่งน่าจะดีกว่าการดูแลผิวหน้าในสถานเสริมความงามโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ไม่มากนัก

น.อ. นพ. กมล วัฒนไกร

ThPRS of Thailand