เจาะคําถามเด็ด!!! เพื่อเต้านม ที่ลงตัว Part 1

เต้านม มีความจําเป็นต่อความมั่นใจทั้งหญิงและชาย ดังนั้นเรามารู้จักซิลิโคนเต้านมเทียม รวมถึงการผ่าตัดเต้านม ซึ่งมีทั้งทําจากเล็กให้ใหญ่ และทำจากใหญ่เป็นเล็กและบ้างก็พอใจในขนาดแล้ว แต่ก็ทำเพื่อแก้ไขความคล้อย ย้อย หย่อนยาน ในบางกรณี เช่นผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม จะเสริมสร้างเต้านมใหม่หลังการผ่าตัดเต้านมทิ้งก็สามารถทําได้

โลกในปัจจุบัน เป็นโลกที่ไม่มีการแบ่งเพศ จึงมีผู้ชายที่ต้องการเป็นผู้หญิง และมาทําเต้านมได้ ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงที่ต้องการเป็นผู้ชาย จึงมาตัดเต้านมทิ้ง ส่วนผู้ชายบางคนมีเต้านมใหญ่เกินไป ไม่มั่นใจในตัวเอง ก็มาตัดลดขนาดเต้านม ขณะที่ในผู้หญิงบางคนหัวนมบอด หัวนมใหญ่ลาน นมกว้างไป ก็มาแก้ไข ขณะที่การจะดูดไขมันจากส่วนอื่นของร่างกายแล้ว เก็บมาฉีดนม ทําได้จริงไม่ มาฟังรายละเอียดกัน

จุดลงแผล “เสริมเต้า” ไม่เศร้า ถ้าเลือกถูกจุด

การผ่าตัดหน้าอกด้วยถุงเต้านมเทียมนั้น แผลที่นิยมใช้มี 3 ตําแหน่ง

คือ

  • แผลบริเวณฐานนม (Infra Mammary Fold; IMF)

  • แผลรักแร้ (Trans Axillar; TA)

  • แผลรอบลานนม (Periareolar)

ข้อดี-ข้อเสียของแผลบริเวณฐานนม (Infra Mammary Fold; IMF) เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแผลที่นิยมใช้มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะสามารถปรับตำแหน่งของฐานนมได้ดี เลาะโพรงแล้วมองเห็นได้ชัด ใช้ผ่าตัดแก้ไขหรือปลี่ยนซิลิโคนได้ง่าย และยังซ่อนแผลอยู่ใต้ฐานเต้านมได้ แต่ข้อเสียคือ ในบางกรณีแผลเป็นบริเวณฐานเต้านมอาจเห็นได้ชัด ถ้าวางตําแหน่งแผลไม่ดี สูงหรือต่ำจนเกินไป หรืออาจเกิดแผลเป็นที่ผิดปกติเช่น แผลเป็นนูน คล้ำ หรือกว้างได้

ข้อดี-ข้อเสียของแผลรักแร้ (Trans Axillar; TA) ข้อดีของแผลรักแร้ คือ หากแผลเป็นหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ก็จะเป็นแผลเป็นที่เเทบมองไม่เห็นเลยทีเดียว แต่สําหรับเทคนิคการผ่าตัดแล้วการมองเห็นโดยตรง มักทําได้ยากจึงเข้าไปแก้ไขความผิดปกติของเนื้อเต้านมหรือเลาะโพรงเนื้อเต้านมได้ยาก การปรับระดับฐานเต้านมหรือในกรณีที่ต้องผ่าตัดแก้ไขเลาะพังผืด มักจะทําได้ยากมากเช่นกัน ความเสี่ยงอีกกรณีหนึ่งคือ บริเวณรักแร้ มีทางเดินน้ำเหลือง หากเกิดความผิดพลาด อาจทําให้มีน้ำเหลืองรั่วซึม หรือพบการอักเสบได้บ่อยกว่าวิธีอื่น

ข้อดี-ข้อเสียของแผลรอบลานนม (Periareolar) แผลรอบลานนม มีข้อดีคือ สามารถเสริมขนาดเต้านมพร้อมกับการยกกระชับเต้านม และลดขนาดลานนมได้ด้วย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลเป็นรอบๆลานหัวนม รวมทั้งอาจมีผลต่อความรู้สึกบริเวณหัวนมและมีผลต่อการให้นมบุตรได้ด้วย ปัจจุบันมีความนิยมน้อยลงมักจะใช้ในกรณีทำร่วมกับการยกกระชับหรือรายที่มีลานหัวนมขนาดใหญ่

ข้อเท็จจริงของ ถุงเต้านมเทียม

ถุงเต้านมเทียมใส่ตรงไหนของเต้านมได้บ้าง ?

การผ่าตัดหน้าอกด้วยถุงเต้านมเทียม แบ่งเทคนิคหลักตามกายวิภาคของหน้าอก คือ

1. ใส่เหนือกล้ามเนื้อ คือใส่ใต้เนื้อนมโดยตรง (subglandular) และใส่ใต้ชั้นเนื้อเยื่อที่หุ้มใต้เนื้อเต้านมอีกชั้นหนึ่ง(subfascial)

2. ใส่ใต้กล้ามเนื้อ (subpectoral) คือการใส่ใต้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทางด้านหน้าของหน้าอก

3. กึ่งเหนือ กึ่งใต้กล้ามเนื้อ (dual plane) คือครึ่งบนของถุงเต้านมอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ส่วนครึ่งล่างของถุงเต้านมเทียมอยู่ใต้เนื้อเต้านม

 
ภาพแสดงการใส่ถุงเต้านมเทียม

ภาพแสดงการใส่ถุงเต้านมเทียม

 

ถุงเต้านมเทียม ใส่ชั้นไหนดีที่สุด ?

ทุกวิธีมีข้อดีข้อเสีย ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด ขึ้นอยู่กับความหนาของเนื้อนม คุณภาพของผิวหนังขนาดของซิลิโคน และความต้องการเป็นธรรมชาติมากหรือน้อย เป็นต้น

ข้อดี-ข้อเสียของการใส่เหนือกล้ามเนื้อ การใส่เหนือกล้ามเนื้อมักจะเจ็บน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ แต่อาจดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ เพราะมองเห็นสัน เห็นขอบเต้านมด้านบนได้ชัด โดยเฉพาะผู้ที่มีเนื้อนมน้อย และคุณภาพผิวหนังไม่ดี รวมทั้งในระยะยาวอาจเกิดเป็นริ้วได้ชัดเจน และอาจเกิดปัญหานมแฝดตามมาได้ง่ายกว่าวิธีอื่นอีกด้วย

ข้อดี-ข้อเสียงของการใส่ใต้กล้ามเนื้อ การใส่ถุงเต้านมเทียมใต้กล้ามเนื้อมักดูเป็นธรรมชาติมากกว่า มีโอกาสเห็นสันและขอบบนได้น้อย เนินนมดูสวยกว่า และโอกาสเกิดนมแฝดน้อยกว่า แต่มีข้อจำกัด เนื่องจากต้องมีการเลาะตัดกล้ามเนื้อ ทําให้อาจรู้สึกเจ็บมากกว่า ใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า เนื่องจากกล้ามเนื้อมีข้อจำกัดในการยืดขยาย จึงทำให้การใส่ถุงเต้านมเทียมขนาดใหญ่ทำได้ยาก นอกจากนั้นหากขยับกล้ามเนื้อ หรือออกแรงใช้กำลังที่ไหล่แขนมาก อาจจะมองเห็นการเคลื่อนไหวของถุงซิลิโคนได้

ข้อดี-ข้อเสียของการใส่กึ่งเหนือกึ่งใต้กล้ามเนื้อ การใส่ถุงเต้านมเทียม ที่บริเวณกึ่งเหนือกึ่งใต้กล้ามเนื้อ เป็นเทคนิคที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากยังทำให้เห็นเนินนมที่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นสันขอบชัดเจน และลดการเคลื่อนไหวของถุงเต้านมเทียม หากมีการใช้ไหล่แขน จนมีการหดตัวรุนแรงของกล้ามเนื้อ แต่เนื่องจากวิธีนี้จำเป็นต้องมีการตัดกล้ามเนื้อและเลาะเนื้อเต้านมที่จำเป็นต้องมีการตัดกล้ามเนื้อและเลาะเนื้อเต้านมที่มากกว่าการเสริมเหนือกล้ามเนื้อ

ถุงเต้านมแบบไหนเหมาะกับใคร ?
การที่ซิลิโคน ถูกผลิตมาหลายรูปแบบหลายขนาดเนื่องจากทรวงอก แต่ละรูปแบบมีความเหมาะสมกับซิลิโคนต่างกัน เช่น ทรงกลม กับทรง หยดน้ำ หรือแบบผิวเรียบกับแบบผิวทราย เป็นต้น หากเลือกทรงกลม ก็ยังมีทรงกลมพุ่งสูง ทรงกลมพุ่งกลาง หรือทรงกลมพุ่งต่ำ หรือหากเลือกทรงหยดน้ำ ก็ยังมีความสูงและความพุ่งที่ต่างกัน เต้านมของบางคนต้องใส่ทรงหยดน้ำเท่านั้น ถึงจะสวยเหมาะสม แต่นมบางคนใส่ทรงกลม หรือจะเลือกใส่ทรงหยดน้ำก็ได้ หรือศัลยแพทย์บางท่านอาจแนะนำ เฉพาะทรงหรือแบบที่ตัวเองถนัดและมั่นใจที่สุดก็ได้

 
Screen Shot 2563-09-14 at 21.36.15.png
 

ผ่าตัดส่องกล้องเพื่ออะไร จําเป็นหรือไม่ ?

ความหมายของกล้องในทีนี้คือเครื่องมือที่ใช้สําหรับใส่เข้าไปในแผลขนาดเล็ก เพื่อให้มองเห็นชัดเจนขึ้น มักใช้ในการผ่าตัดช่องท้อง หรืออุ้ง เชิงกราน ซึ่งต้องเข้าถึงอวัยวะที่อยู่ลึกและหลีกเลี่ยงแผลขนาดใหญ่ สําหรับการส่องกล้อง เพื่อช่วยในการเสริมหน้าอกนั้น อาจไม่ได้ทําาให้ขนาดแผล เล็กลงมากนัก เนื่องจากแผลต้องใช้อย่างน้อย 4-6 เซนติเมตร เพื่อใส่ถุง เต้านมเทียมเข้าไปอยู่แล้ว แต่อาจมีประโยชน์ในการผ่าตัด ที่มองเห็นพื้นที่ผ่าตัดได้ไม่ชัดเจน เช่นการเสริมเต้านมผ่านทางรักแร้ เพื่อช่วยให้การเลาะโพรงเเม่นยําและลดปริมาณเลือดที่ออก แต่หากถามว่าจําเป็นหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่จําเป็นสําหรับการผ่าตัดทุกรายแต่เลือกบางรายเท่านั้น

ส่วนประกอบของถุงเต้านมเทียมมีอะไรบ้าง ?

ถุงเต้านมเทียม มีหลายร้อยรุ่นหลายแบบ สามารถแบ่งตามส่วน ประกอบได้ 2 ส่วน คือ
1. เปลือกภายนอก (shell)
2. สิ่งที่อยู่ภายใน (content)
ซึ่งวิธีการผลิตสามารถทำออกมาเป็นรูปร่างที่แตกต่างกัน ผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน และความหนึบที่ต่างกันได้

ถุงน้ำเกลือ ยังมีใช้อยู่หรือไม่ ทําไมต้องเปลี่ยนเป็นถุงซิลิโคน ?

เมื่อหลายสิบปีก่อน ถุงเต้านมเทียมที่นิยมคือภายนอกเป็นซิลิโคน ผิวเรียบ และส่วนประกอบภายในเป็นน้ำเกลือ (saline) แต่มีปัญหาคือ ถุงน้ำเกลือมีอายุการใช้งานสั้น เพราะมีการแตกรั่วซึมง่าย รวมทั้งรูปร่างไม่ค่อยคงที่ เกิดเป็นผิวคลื่นได้ง่าย และการสัมผัสลักษณะคล้ายมีน้ำกระฉอกอยู่ในตัว ต่อมาจึงมีการพัฒนารูปแบบของซิลิโคนเจล (silicone gel) ให้มีความหนึบ ทนทาน ปลอดภัยเป็นธรรมชาติมากขึ้น จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

ผิวเรียบ กับผิวทราย ต่างกันอย่างไร

ผิวเรียบ (smooth surface) คือ ผิวที่สัมผัสเรียบ ส่วนผิวทราย (textured surface) คือผิวสัมผัสขรุขระ ซึ่งมีความหยาบน้อย ไปจนถึงหยาบมาก เหตุผลที่ทําผิวหยาบนั้นเชื่อว่าจะช่วยลดพังผืด แต่จากผลงานวิจัยภายหลังพบว่าไม่เป็นจริงตามนั้นเสมอไป เพราะปัจจุบันพบปัญหาได้ทั้งซิลิโคนผิวเรียบและผิวทราย

ใส่ขนาดเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม ?

ขนาดของซิลิโคนซึ่งแตกต่างกัน มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความชอบ ของแต่ละคน ความเหมาะสมของกายวิภาคหน้าอก และประสบการณ์ ความชอบของศัลยแพทย์ ขนาดของซิลิโคนแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ มีความแตกต่างกัน บางรุ่นเพิ่มขนาดทุก 25 ซีซี บางรุ่นทุก 30 ซีซี หรือบางรุ่นก็ไม่แน่นอน ในความเป็นจริงแพทย์จะแนะนําว่าไม่ควรใส่ซิลิโคนขนาดใหญ่จนเกินไป

นมลักษณะแบบใด ที่เหมาะกับทรงหยดน้ำ

แม้ไม่มีสูตรตายตัวในการเลือกทรง แต่โดยทั่วไปลักษณะนมที่เหมาะจะเลือกทรงหยดน้ำ คือ

1. เนื้อเต้านมที่น้อยมากๆ จึงต้องการทรงดูธรรมชาติ
2. มีความคล้อยย้อยเล็กน้อย ต้องการยกกระชับขึ้น (mild ptosis)
3. มีภาวะเต้านมผิดปกติ แบบทรงมะละกอ (tubular breast )
4. มีภาวะเนื้อฐานนมน้อย (constricted lower pole )
5. หลังการผ่าตัดเต้านม (จากเนื้องอก หรือ ฟิลเลอร์ เป็นต้น)
6. ความประสงค์โดยตรงของผู้รับบริการที่ต้องการรูปทรงนี้ (Patient’s desire )

วิธีการวัดตัวและประเมินไซส์ซิลิโคนเบื้องต้น

การเลือกซิลิโคนต้องดูทรงเต้านม ความหนาของเนื้อเต้านม และความกว้างของหน้าอกแต่ละข้าง โดยวัดจากตำแหน่งจำเพาะ เช่นกระดูกไหปลาร้า กระดูกทรวงอก หัวนม ลานหัวนม และฐานเต้านม เป็นต้น ซึ่งวิธีการวัดของศัลยแพทย์แต่ละท่าน อาจจะแตกต่างกันได้ และอย่าตกใจหากมีตัวเลขวาดอยู่เต็มไปหมด เพราะตัวเลขเหล่านี้รวมทั้งรูปถ่ายจะช่วยทำให้ผลการผ่าตัดออกมาดีที่สุด ไม่ควรเลือกขนาดจากการดูรูป หรือรีวิว หรือจากคําบอกเล่าของคนใกล้ชิด เนื่องจากแม้ความสูงของคนจะเท่ากันได้ แต่รูปกระดูกแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน หรือเนื้อเต้านมตั้งต้นของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

ทําไมนมไม่เท่ากัน ?

การที่ทรวงอก 2 ข้างดูไม่เท่ากัน อาจไม่ได้เกิดจากเนื้อเต้านมที่ไม่เท่ากัน เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากกระดูกซี่โครง และกระดูกหน้าอกที่ไม่เท่ากัน โดยปกติของผู้หญิงเต้านมทั้งสองข้าง มักจะไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่นบางราย ข้างซ้ายขนาดดูใหญ่ และสูงกว่าด้านขวา เนื่องจากหัวใจอยู่ด้านซ้าย ทําให้หน้าอกด้านซ้ายมีความนูนกว่าด้านขวาได้เล็กน้อย เป็นต้น หรือบางราย มีความผิดปกติในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ หรือมีภาวะอกบุ๋ม เป็นต้น

ใส่ซิลิโคนใหญ่เกินไปมีผลเสียอย่างไรบ้าง ?

ซิลิโคนที่ใหญ่เกินไปจะมีผลเสียทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว สำหรับในระยะสั้นนั้น เนื่องจากซิลิโคนขนาดใหญ่ทำให้ต้องเลาะโพรงขนาดใหญ่ จึงมีโอกาสที่จะตัดถูกเส้นเลือดเส้นประสาทกล้ามเนื้อมากกว่า จนทำให้เกิดอาการชา เลือดออกและเจ็บปวดได้มากกว่า

ส่วนในระยะยาวคือโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังแตกลาย หนังยืดคราก เต้านมห้อยย้อยคล้อยต่ำ หัวนมและเต้านมชา ไม่มีความรู้สึก นมกลายเป็นลอนๆ และมองดูเป็นนมปลอมเนื่องจากเห็นสันขอบชัด คลำได้ขอบบริเวณด้านข้างและด้านใน บริเวณเต้านมเป็นลอนเหมือนผ้ายับ หรือ ผ้าม่าน รวมถึงเกิดพังผืดได้ง่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ การแก้ไขผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการใส่ถุงเต้านมขนาดใหญ่นั้นก็ทำได้ยาก และอาจจะต้องแลกมากับแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ หรือหลายกรณีไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก เนื่องจากผิวหนังและเนื้อเยื่อได้ถูกทําลายไปแล้ว

ใคร ? ควรทําแมมโมแกรม หรือ อัลตราซาวด์ก่อนเสริมเต้านม

โดยปกติแล้ว ก่อนที่แพทย์จะเริ่มเสริมเต้านมให้ผู้รับบริการทุกราย จะไม่ใช่เพียงแค่การวัด วาด หรือเลือกขนาดเท่านั้น แต่ยังต้องตรวจร่างกาย ก่อนผ่าตัด ซักประวัติ รวมถึงตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของโรค เต้านม เพื่อหาความผิดปกติของเต้านมด้วย

การตรวจจะเน้นไปที่การหาโรค และความผิดปกติของเต้านม ตั้งแต่ กระดูกทรวงอก กล้ามเนื้อ เนื้อเต้านม ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลือง โดยกลุ่มที่ควรจะตรวจให้ละเอียดเพราะถือเป็นกลุ่มเฝ้าระวังโรคเต้านม มี 3 กลุ่ม คือ

1. มีความเสี่ยงโรคเต้านม เช่น มีโรคเต้านมในครอบครัว เคยรับยาฮอร์โมน หรือยาคุมกําเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

2. มีอาการหรืออาจเคยตรวจพบความผิดปกติ เช่น ตรวจพบก้อน เต้านม เจ็บเต้านมมากผิดปกติ มีน้ำไหลจากหัวนม หรือ มีแผลผิวหนังเต้านมผิดปกติ เป็นต้น

3. อายุเกิน 35 ปี ซึ่งอาจอนุโลมได้ถึง 40 ปี ถ้าเกินกว่านี้ ควรตรวจ คัดกรองโรคเต้านมอย่างละเอียดทุกราย

มีก้อนที่เต้านม สามารถเสริมเต้านมได้หรือไม่ ?

หากพบสิ่งที่ผิดปกติหรือสงสัย ต้องตรวจให้แน่ชัดก่อนว่า ก้อนที่เต้านมนั้น ไม่มีอันตรายใดๆ โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ สามารถพบก้อนเนื้อ ถุงน้ำ หรือหินปูนที่เต้านมได้เกือบ 30% แต่ในจํานวนนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแค่เฝ้าระวังและติดตามก็เพียงพอ ดังนั้นหากอายุเกิน 35-40 ปีขึ้นไป ก่อนผ่าตัดใดๆที่เต้านม แนะนำให้ทำแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ก่อน รวมทั้งอาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วย สำหรับการผ่าตัดเสริมเต้านมพร้อมกับการนําก้อนที่เต้านมออกก็สามารถทําได้เช่นกัน

อายุเท่าไหร่ จึงจะเสริมเต้านมได้ ?

โดยปกติ ควรเสริมเต้านมเมื่อเต้านมมีการเจริญเติบโตเต็มที่ หรือมีลักษณะคงที่แล้ว โดยทั่วไปมักจะอายุเกิน 18-21 ปีไปแล้ว

หลังมีบุตร เสริมเต้านมได้เลยหรือไม่ ?

แม้มีบุตรแล้วก็เสริมได้แต่เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือหลังจากลูกหย่านมหรือหลังหยุดปั๊มนมแล้วอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้เต้านมกลับมาอยู่ในภาวะปกติมากที่สุด

หากน้ำหนักตัวยังขึ้น หรือลงไม่คงที่ ควรเสริมหน้าอกหรือไม่ ?

ผู้รับการรักษาควรให้น้ำหนักตัวคงที่ เป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน แล้วจึงพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน เพราะหากเสริมเต้านม ตอนน้ำหนักตัวมาก อาจจําเป็นต้องใส่ซิลิโคนขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อผอมลงแล้ว อาจจะดูไม่เข้ากับรูปร่าง หรืออาจมีการคล้อยย้อย หย่อน ทําให้ต้องเสียเวลาและเจ็บตัวมาผ่าตัดแก้ไขอีกครั้ง

หลังเสริมเต้านมแล้ว ให้นมบุตรได้ไหม ?

โดยปกติแล้วสามารถให้นมบุตรได้แน่นอน แต่บางรายงานพบว่าปริมาณน้ำนมอาจน้อยลงได้บ้าง โดยเฉพาะหากมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดหรือ หากใช้วิธีผ่าตัดโดยลงแผลผ่านทางลานหัวนม หรือมีการยกกระชับเต้านมร่วมด้วย

เตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ควรงดบุหรี่และสุราอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ยา วิตามิน หรืออาหารเสริม ที่ไม่ทราบส่วนประกอบ ก็ควรงดเช่นกัน ที่สําคัญ คือ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ควรตรวจสอบว่าทำการผ่าตัดในสถานพยาบาล และ ห้องผ่าตัดที่ได้รับการรับรอง รวมทั้งมีเครื่องมือ อุปกรณ์ในการดมยาสลบ ระงับปวด พร้อมวิสัญญีแพทย์และพยาบาลให้บริการหรือไม่ และหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น มีมาตรการรองรับแก้ไข หรือส่งต่ออย่างไรในวันผ่าตัด แนะนำให้งดดื่มชา กาแฟ โกโก้ หรือน้ำอัดลม เนื่องจากอาจมีผลต่อการผ่าตัด ควรทานอาหารอ่อนและงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หากมีประวัติแพ้ยาหรือโรคประจําตัวต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง

นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์

ThPRS of Thailand