ปฐมบทของศัลยกรรม เรื่องจริงที่ควรรู้
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้รับอนุมัติการ ตั้งเป็นสมาคมถูกต้องตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2527 โดยใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี ชื่อที่สมาคมใช้จดทะเบียนคือ “สมาคมศัลยแพทย์เสริมสวยแห่งประเทศไทย” หรือ The Society of Aesthetic Surgeons of Thailand ต่อมามีการยื่นขอเปลี่ยนชื่อจากเดิม เป็น “สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย” หรือ The Society of Aesthetic Plastic Surgeons of Thailand (THSAPS) ขณะที่ “สมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย” ก่อตั้งภายหลัง คือเมื่อปี พ.ศ.2529 จึงไม่ใช่สมาคมด้านศัลยกรรมเพื่อการเสริมสวยแห่งแรกของประเทศไทย ดังที่ปรากฏในเอกสารที่เผยแพร่ต่อสาธารณะทั่วไป
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย เป็นพันธมิตรกับ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgeons) หรือ ISAPS ร่วมกับสมาคมของอีก 46 ประเทศทั่วโลก โดยทุกประเทศมีหลักการตรงกันคือ ให้ความสำคัญกับ ความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) เป็นอันดับแรก อันมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ Patient, Surgeon, Procedure, Facility โดยทุกองค์ประกอบต้องครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจะสามารถรับประกันความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ เวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสวย เสริมความงาม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มที่เรียกว่า NonInvasive Procedure คือ การใช้ยากินหรือยาฉีด การนวด การกดจุด การฝังเข็ม เป็นต้น ซึ่งแทบไม่มีความเสี่ยงต่ออันตราย ของผู้ป่วย หรือผู้รับบริการ ยกเว้น การแพ้ยารุนแรง หรืออาการช็อคจากความกลัวความเจ็บจากการฉีดยา ซึ่งมักเกิดขึ้นต่ำมาก และมักสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที โดยแพทย์ทั่วไป หรือบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาต สามารถทําเวชปฏิบัติเหล่านี้ได้ในคลินิกทั่วไป
- กลุ่มที่เรียกว่า Minimally Invasive Procedure คือการทำหัตถการ ที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลเพียงเล็กน้อย (Minorsurgery) ซึ่งอาจจะใช้กล้องส่องเป็นเครื่องมือช่วย การใส่วัสดุเสริม การใช้ไหมร้อย เลเซอร์ เป็นต้น การทำหัตถการเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการ จำเป็นต้องให้ยาระงับความรู้สึกอย่างน้อยแบบเฉพาะที่ โดยการฉีดยาชาหรืออาจจะร่วมกับการให้ยากิน ยาฉีดกลุ่มยากล่อมประสาท ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้ยามากเกินไป จนอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ ระบบประสาท ระบบการหายใจ รวมถึงการแพ้ยาขั้นรุนแรง จนอาจทำให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการมีอันตรายถึงชีวิต
ดังนั้นจึงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อง “ความปลอดภัยของผู้ป่วย Patient Safety” ในสองประเด็นว่า แพทย์ทั่วไปซึ่งมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะทําหัตถการต่างๆ ได้ จําเป็นต้องได้รับการอบรม เพิ่มเติมอย่างไร ทั้งในด้านหัตถการหลัก และการช่วยกู้ชีพเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และประเด็นที่สองที่ถกเถียงกันคือ สถานที่สําหรับทําหัตถการ ควรเป็นสถานที่แบบไหน หากเป็นโรงพยาบาลซึ่งถูกควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา แต่หากเป็นคลินิกซึ่งมีจําานวนมาก และยากที่ภาครัฐจะควบคุมดูแลให้ปฎิบัติตามระเบียบมาตรฐาน ทั้งที่ตั้งของคลินิก รวมถึงบุคลากรด้วย นอกเหนือไปจากแพทย์ และเครื่องมืออุปกรณ์ในกู้ชีพแล้ว การฝึกอบรมเป็นระยะควรจะมีลักษณะอย่างไร การบังคับให้เป็นไปตามกฏระเบียบ กฏหมายจะทําได้มากน้อยเพียงใด
- กลุ่มที่เรียกว่า Invasive procedure หรือ การผ่าตัดใหญ่ (Major operation) ปกติจะต้องทำภายใต้การให้ยาสลบ และควบคุมโดย วิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล ภายในห้องผ่าตัดมาตรฐานของโรงพยาบาล และดูแลในห้องพักฟื้นหลังผ่าตัด จนกระทั่งผู้เข้ารับการผ่าตัดฟื้นตัว หัตถการเหล่านี้ มีตั้งแต่ชนิดง่าย จนกระทั่งหัตถการที่ซับซ้อนยุ่งยาก กลุ่มนี้จําเป็นต้องได้รับการดูแลควบคุม เรื่อง “Patient Safety ความปลอดภัยของผู้ป่วย” อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด โดยต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
● แพทย์ทั่วไป ถึงแม้จะมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะทําหัตถการ แต่ไม่มีพื้นฐาน และประสบการณ์มากพอ ที่จะดูแลผู้ป่วยที่รับบริการกลุ่ม Invasive Procedure นี้ได้ แพทย์ที่จะมีคุณสมบัติเพียงพอ ควรมีความรู้ประสบการณ์ และเวลาการทํางานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานผ่าตัด หรือได้รับการฝึกอบรม เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับแผนกศัลยกรรม ไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็ตาม เช่น ศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทรวงอก หรือ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น และยิ่งถ้าชนิดของการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยประเภทใดที่มีความซับซ้อน หรือจําเป็นต้องมีการแก้ไขการผ่าตัดแล้ว แพทย์ผู้ทําการผ่าตัดยิ่งต้องเป็นศัลยแพทย์เฉพาะในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง (Plastic Reconstructive Surgery is a Foundation of Aesthetic Plastic Surgery) ซึ่งต้องผ่านการอบรมเป็น เวลา 3-6 ปี และมีความรู้ ความชํานาญ ในเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ
● สถานที่สําหรับทําหัตถการ ควรเป็นสถานที่ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากเป็นหัตถการกลุ่มที่ต้องได้รับยาสลบเป็นหลัก จึงควรทำในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ในหัตถการแบบเดียวกัน แพทย์และศัลยแพทย์บางคน อาจเลือกวิธีผ่าตัด และการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ร่วมกับการให้ยากิน ยาฉีดกลุ่มยากล่อมประสาทแทน โดยเหตุผลต่างกัน เช่น เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว หรือต้องการทําหัตถการในคลินิกเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง หรือติดขัดข้อบังคับของโรงพยาบาล ซึ่งกําหนดคุณสมบัติของแพทย์ที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ ห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลได้ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีอนุมัติบัตร หรือ วุฒิบัตรเท่านั้น ดังนั้นการใช้สถานที่ซึ่งไม่ใช่ห้องผ่าตัดที่ได้มาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น จึงเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หรือผู้รับบริการเป็นอย่างมาก หากแพทย์ ศัลยแพทย์ ไม่ตระหนักและระมัดระวังในการเลือกชนิดการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึกที่เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยาเกินขนาด ก็อาจไม่พร้อมในการกู้ชีพได้
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงจําเป็นที่จะต้องกําหนดเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ โดยหน่วยงานรัฐ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) ตามองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ
Patient ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการควรมีอายุอย่างน้อย 18-20 ปี และมีสุขภาพกายสุขภาพจิตเหมาะสมกับหัตถการที่ต้องการ
Surgeon แพทย์หรือ ศัลยแพทย์ ต้องมีความรู้ ประสบการณ์ หรือ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับอนุมัติบัตร วุฒิบัตร ตามที่ราชการรับรองให้ทําหัตถการในแต่ละกลุ่มเฉพาะเท่านั้น
Procedure หัตถการแต่ละชนิดจะต้องได้รับการยอมรับ มีมาตรฐานสากล ไม่ใช่การทดลองหรือหลอกลวง และต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการในหัตถการนั้นๆ
Facility สถานที่ทําหัตถการต้องมีความปลอดภัยตามมาตรฐานของราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการอนุญาตให้ทําหัตถการของแต่ละกลุ่ม โดยมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่ได้รับการอบรม พร้อมที่จะช่วยเหลือ กู้ชีพ และส่งต่อในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
กระตุกแนวคิด ก่อนผลักดันแพทย์สู่วงการศัลยกรรม
ปัจจุบัน มีแพทย์ที่จบการศึกษาและใช้ทุนจนครบทั้งหมดแล้ว แต่ยังตกค้างโดยไม่สามารถสมัครเข้ารับการอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใด สาขาหนึ่งได้ ประมาณ 800 - 1,000 คน และมีแนวโน้มมากขึ้น ที่จะหันมาทำเวชปฏิบัติเสริมสวย เสริมความงาม ก่อให้เกิดการแข่งขันเอาตัวรอดทั้งโดยใช้การตลาด การโฆษณาที่ละเมิดกฏเกณฑ์ ไม่เกรงกลัวกฏหมาย ขาดจริยธรรมทางการแพทย์ และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้แพทย์ทั่วไปหันมาทํางานด้านเวชปฏิบัติ เสริมสวย เสริมความงาม โดยใช้เหตุผลด้านยุทธศาสตร์ประเทศที่ต้องการ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ตั้งเป้าหมายให้มีความเป็นเลิศ ในภูมิภาค (Medical Tourism / Medical Hub of Asia / Excellence Center) หรืออาจเพราะเกรงว่าจะเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่พยายามจะเป็นศูนย์กลางในด้านเวชศาสตร์ และศัลยกรรมความงาม จนทำให้ต้องเพิ่มส่งเสริม หรือผลิตแพทย์โดยใช้การอบรมระยะสั้น (Short course) และออกใบรับรองผ่านการอบรมให้ ทั้งที่ยังต้องผ่านการตีความอย่างรอบคอบนั้น อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทําให้เกิดการแข่งขันด้านปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ละเลยด้านคุณภาพของบุคลากร
ในความเป็นจริงสัดส่วนของผู้ที่เดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ หรือนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourist) ซึ่งสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประมาณ 140,000–200,000 ล้านบาทต่อปีนั้น เกิดจากเวชปฏิบัติเสริมความงามเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
การเพิ่ม ส่งเสริม และผลิตแพทย์ด้านเวชศาสตร์ศัลยกรรมความงาม โดยใช้การอบรมระยะสั้น (Short course) และออกใบรับรอง จึงถูกวิพากษ์ วิจารณ์ จากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS ซึ่งกังวลว่า จะส่งผลให้ความปลอดภัยของผู้ป่วยเปราะบางยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ที่จะเดินทางจากต่างประเทศเพื่อมารับบริการในอนาคตก็จะสงสัยต่อมาตรฐานของแพทย์โดยรวมที่ทําหัตถการเหล่านี้อยู่แล้วได้
การที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่งสัญญาณที่ผิดไปยังแพทย์ปัจจุบัน และแพทย์ที่กำลังจบใหม่ในอนาคต อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้า หรือส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้แพทย์เลือกทำงานด้านความสวยงาม ซึ่งไม่ต้องทำงานหนักแต่มีค่าตอบแทนที่ดี แทนที่จะเลือกทํางานด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพประชาชน หรือเวชศาสตร์ครอบครัว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนั้นยังอาจมีผลกระทบไปยังคนไทยในภาพรวม เพราะเมื่อมีการส่งเสริมด้านความสวยงามในหมู่ประชาชน ผ่านการผลิตแพทย์ด้านนี้มากขึ้น ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการโฆษณา การตลาด และการจูงใจในทุกมิติให้ผู้คนมาใช้บริการ จนอาจถึงขั้นมอมเมาประชาชน ให้มัวแต่ห่วงรูปลักษณ์ของตัวเอง แทนที่จะใช้เวลาและโอกาสในเรื่องที่สมควร และจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศชาติได้
ความปลอดภัย ของผู้ป่วย และผู้รับบริการ คือ สิ่งสําคัญ อันดับหนึ่ง
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ หรือ ISAPS (Inter- national Society of Aesthetic Plastic Surgery) ให้ความสําคัญเรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการศัลยกรรมเป็นอันดับหนึ่ง และเน้นย้ำต่อสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับรองจากหน่วยงานของรัฐเสมอว่าผู้ป่วยหรือผู้รับบริการศัลยกรรม ไม่ควรมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเสี่ยงต่อชีวิตจากการผ่าตัด โดยให้คํานึงถึงหลักปัจจัย 4 ประการ ดังนี้
1. การผ่าตัด หรือ หัตถการจะต้องเหมาะสมต่อผู้ป่วยหรือผู้รับบริการศัลยกรรม
2. ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการศัลยกรรมต้องมีสุขภาพกายและสภาพจิตใจที่เหมาะกับการศัลยกรรมนั้นๆ
3. ศัลยแพทย์ต้องเป็นผู้มีความชำนาญในการผ่าตัดหรือหัตถการนั้น และได้รับการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐที่น่าเชื่อถือ
4. สถานพยาบาล ที่ให้บริการศัลยกรรมจะต้องมีความปลอดภัย มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมปฏิบัติงาน และเครื่องมือ พร้อมที่จะดูแลในกรณีฉุกเฉิน
กรณีเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2560 ซึ่งผู้รับบริการศัลยกรรมเสริมเต้านมในคลีนิกรายหนึ่ง มีภาวะแทรกซ้อนจนต้องนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่า ผู้ที่ทําการผ่าตัดให้นั้น มิใช่แพทย์ หากแต่เป็นเพียงผู้ที่เคยทําางานอยู่ในสถานพยาบาล และจดจําวิธีการผ่าตัดมาปฏิบัติเอง รวมถึงอาจจะเคยเข้ารับการสอน หรืออบรมระยะสั้นๆ ตามหลักสูตรที่มีการเปิดสอนโดยไม่เคร่งครัดในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าเรียนว่าจะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น
ถึงแม้ว่า ผู้รับบริการ จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง การผ่าตัดเสริมเต้านม ก็เป็น หัตถการ ที่ปลอดภัยและนิยมทํากันทั่วทุกประเทศในปัจจุบัน แต่ผู้ที่ทำการผ่าตัดกลับไม่ใช่ ศัลยแพทย์ ที่มีความชํานาญหรือได้รับการรับรอง ส่วน สถานพยาบาล ที่ให้บริการนั้น หน่วยงานราชการก็ยืนยันว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดําเนินการ ดังนั้น คงไม่สามารถรับรองได้ว่ามีความปลอดภัย หรือมีบุคลากรและเครื่องมือที่พร้อมในการจะให้บริการทําศัลยกรรม
เป็นที่น่าสังเกตว่าคลีนิกดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ จึงหันไปใช้แผนการตลาด ทั้งการโฆษณา การลดราคา และนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อชักชวนให้คนมาใช้บริการ ด้วยค่าบริการที่ต่ำมาก เช่นกรณีนี้ ที่คิดอัตรา เพียง 35,000 บาท ในขณะที่ค่าบริการจากสถานพยาบาลทั่วไปสูงกว่านี้ถึงเท่าตัวเป็นอย่างน้อย เพียงเท่านี้ก็ย่อมอนุมานได้ว่า ผู้ประกอบการต้องพยายามควบคุมต้นทุนทุกอย่างให้ต่ำที่สุด จึงจะเกิดผลกําไร ซึ่งรวมถึง ค่าตอบแทนแพทยท์ ที่ทำหัตถการก็ต้องมีราคาต่ำไปด้วย จึงต้องจ้างแพทย์ที่ยังไม่มีความชํานาญไปปฏิบัติงาน ขณะที่การเลือกใช้วิธีระงับความรู้สึก ก็ใช้แบบที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างวิสัญญีแพทย์มาดูแล คงไม่ต้องพูดถึงบุคลากรอื่นๆที่ร่วมปฏิบัติงาน รวมถึงเครื่องมือที่จะต้องเตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉิน ว่ามีความพร้อมเพียงใด สุดท้ายจึงเกิดความสูญเสีย และยังความเศร้าสลด ความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องควบคุม การให้บริกาาศัลยกรรมในทุกมิติให้เข้มข้น รวมทั้งประชาชนต้องตระหนักรู้ หาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีวิจารณญาณในการเลือกแพทย์ ศัลยแพทย์ และเลือกสถานพยาบาลอย่างระมัดระวังมากขึ้น ในสถานการณ์ที่แพทย์จำนวนไม่น้อยขาดจริยธรรมละเลยคำสอนของปูชนียบุคคลทางการแพทย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน ประโยชน์ส่วนรวม
กําเนิดการท่องเที่ยว เชิงการแพทย์ ในประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 ผู้คนในยุคนั้น มักจะได้ยิน ว่ามีคนไทยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อทําศัลยกรรมเสริมจมูก ทําตา หรือ เสริมเต้านม เนื่องจากงานศัลยกรรม หรือชื่อเต็มๆ ก็คือ ศัลยกรรมตกแต่ง เสริมสวย หรือศัลยกรรมตกแต่งความงาม เพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทย อีกทั้งมีหมอศัลยกรรมเพียงไม่กี่คน ที่สามารถให้บริการผ่าตัดด้านนี้ได้ ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ยังอยู่ในภาวะวุ่นวายทางการเมือง และไม่มีความโดดเด่น ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในยุคนั้นผู้คนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปรับบริการทางการแพทย์ แล้วถือโอกาสพักฟื้น รวมทั้งท่องเที่ยวก่อนเดินทางกลับไม่ได้มีปริมาณมาก หากเทียบกับการไปท่องเที่ยวแบบปกติ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือนัยทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีผู้ไปใช้บริการ
จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ.2540 ที่คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักคำว่า “วิกฤติเศรษฐกิจต้มยํากุ้ง” อันเนื่องมาจากการโจมตีค่าเงินสกุลเอเชีย โดยกลุ่มนักลงทุน Hedge Fund จากประเทศตะวันตก และมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย ส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ในประเทศไทยนั้น ธนาคาร 2 แห่ง และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กว่า 50 บริษัทต้องปิดตัวลงหรือไม่ก็ถูกขายให้บริษัทต่างชาติ เพราะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สิน ที่กู้เงินต่างประเทศมาปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจห้างร้านในประเทศส่งผลกระทบต่อทุกองค์กรในห่วงโซ่เศรษฐกิจไทย ทำให้ธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม การนำเข้าส่งออก ต้องชะงักงัน การเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP ติดลบเป็น ครั้งแรก ผู้คนจำนวนมากตกงาน ขณะที่เศรษฐีหลายคนล้มละลายในชั่วข้ามคืน กล่าวได้ว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจตกต่ำจนแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ดังกล่าว กลับมีธุรกิจ อตุสาหกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงอยู่รอดแต่กลับเติบโตเฟื่องฟู เป็นทางออกของชาติได้ในตอนนั้น นั่นคือ การท่องเที่ยว
เนื่องจากเมื่อรัฐบาลในขณะนั้น ที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทําให้ค่าเงินบาทลดลง 50-90 เปอร์เซ็นต์ มีช่วงหนึ่งที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ถึงขนาด 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แลกเงินบาทได้มากถึง 50 บาท จากเดิมที่เคยแลกได้เพียง 24 บาท แต่ผล จากค่าเงินบาทที่อ่อนยวบนี้ กลับทําาให้ชาวต่างชาติ ทั้งจากอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาททอ่อนลง ทำให้นักท่องเที่ยวเสมือนจ่ายเพียงครึ่งเดียวจากที่เคยจ่ายก่อนหน้านั้น
ต่อมาเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาบริหารงานต่อจากรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ท่ามกลางภาวะถดถอยทาง เศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพียงแต่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจบางประเภทปรากฏให้เห็น ทั้งที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และ ชลบุรี สัญญาณดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ของไทย และต่อมายังเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสําคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศไทยด้วย
หากมองย้อนกลับไปก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะประสบปัญหาฟองสบู่ ในปี พ.ศ.2540 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน มีแผนธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าหรือคนไข้ระดับบน และระดับกลาง ในกรุงเทพฯ แต่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยําากุ้ง ทําให้คนไข้ในกลุ่มคนชั้นกลาง ที่เคยมีกําลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลต้องประสบปัญหาการเงิน และหันไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐแทน
กลุ่มคนไข้ที่เป็นเป้าหมายของโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์จึงลดลงจนน่าเป็นห่วง โรงพยาบาลได้หันไปทดลองทำการตลาดต่างประเทศหวังจะดึงคนไข้ที่มีกําลังซื้อจากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกเข้ามาทดแทน รวมถึงคนไข้จากประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้มักเดินทางไปรักษาในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ให้เปลี่ยนใจเบนเข็มมารักษาตัวที่ประเทศไทยแทน โดยเฉพาะภายหลังเหตกุารณ์ก่อการร้าย 9/11 ที่ตึกเวิรล์ดเซ็นเตอร์ของสหรัฐอเมริกาถูกโจมตี เมื่อปี พ.ศ. 2544 ก็ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งเร้าที่สําคัญอีกอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ยังมีลูกค้าอีกประเภทหนึ่งที่เดินทางจากประเทศต่างๆ เพื่อมารับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ จาก รศ.นพ.ปรีชา เตียวตรานนท์ ศัลยแพทย์ตกแต่งที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย แต่ภายหลัง ผู้บริหารของโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เลือกที่จะไม่สนับสนุนประชาสัมพันธ์ การผ่าตัดศัลยกรรมแบบนี้ ด้วยเกรงว่าจะกระทบภาพลักษณ์ของโรงพยาบาล แต่ถึงอย่างนั้น ชื่อเสียงของโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ก็ขจรขจายไปทั่วโลก ในฐานะโรงพยาบาลที่ทันสมัยเพียบพร้อมที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism ของ ประเทศไทย
ไม่เพียงเท่านั้น การผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ ยังทําให้เกิดผลที่ ไม่คาดฝันขึ้น ณ โรงพยาบาลสิริโรจน์ จังหวัดภูเก็ต เพราะแทนที่จะเป็นภาพลบของโรงพยาบาล แต่กลับกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในชั่วข้ามคืน เนื่งจากมีคนไข้จากสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย บินตรงมายังภูเก็ต เพื่อรับการผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง (Sex Reassignment Surgery, SRS) กับ นพ.สงวน คุณาพร ศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่เป็นแพทย์ด้านนี้เพียงคนเดียวของจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น และยังมีโรงพยาบาลเอกชน จังหวัดชลบุรี ที่มี นพ.สุพร วทัญญูสกุล ศัลยแพทย์ตกแต่งอีกคน ที่มีความสามารถในด้านเดียวกัน ซึ่งมีผู้คนเดินทางจากทั่วโลก เพื่อมารับการผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ
เหตุการณ์เหล่านี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยกลุ่มนี้ ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อรับบริการทางการแพทย์เป็นหลัก ส่วนการพักฟื้น หรือการท่องเที่ยวหลังรับการรักษา นับเป็นผลพลอยได้ หรือเป็นโบนัสให้ตัวเอง ก่อนเดินทางกลับประเทศภูมิลําเนา
แปลงเพศ...นําไทย พลิกวิกฤติ เป็นโอกาส
หากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourist/Traveler) และการใช้จ่ายเงินทั้งในส่วนค่ารักษาพยาบาลหรือศัลยกรรม และค่าโรงแรม ที่พัก อาหาร และค่าบริการท่องเที่ยวต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2540 ถึง 2545 นับว่าอยู่ในระดับไม่สูงนัก เพราะมีเพียงหลักแสนคนต่อปี และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับหลักพันล้านบาทต่อปีเท่านั้น กระทั่งปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยมองเห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติจึงสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ หรือ Medical Tourism อย่างจริงจัง
ขณะที่ในจังหวัดภูเก็ต ก็เกิดการตื่นตัวในโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่นี้ เช่นบริษัท Phuket Health and Travel โดยคุณปิยะนุช หงษ์หยก ร่วมมือ กับโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เริ่มส่งเสริมการตลาด ด้วยการดึงนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาใช้บริการทางด้านสุขภาพและศัลยกรรมตกแต่งความงาม ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านนี้ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคจนกระทั่งมีบริษัททํานองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นอีกเป็นร้อยเป็นพันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2544 ผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับคณะรัฐมนตรีสัญจร ซึ่งนางสาวสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นได้บังเอิญนำเสนอประเด็นข่าวที่ชาวต่าชาติเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับการผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศโดยเฉพาะ จนเป็นข่าวพาดหัว “แปลงเพศกู้ชาติ” และกลายเป็นจุดสนใจของทั้งสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไปในขณะนั้น กับคำถามที่ว่า “ทำไมชาวต่างชาติเหล่านี้จึงตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทยเพื่อรับการผ่าตัดศัลยกรรม ซึ่งเป็นบริการทางทางการแพทย์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนแบบนี้อย่างมาก” อีกทั้งเกิดคำถามว่า “งานด้านศัลยกรรมจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่เป็นข่าวได้จริงหรือไม่”
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยก็ได้รับการกล่าวขานมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกปักหมุดในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนทั่วโลกที่ต้องการรับการผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ (World capital of Sex change) สํานักข่าวต่างประเทศหลายสํานัก เว็บไซต์ บล็อก และสื่อสังคมออนไลน์ ต่างนําเสนอข่าวประเด็นนี้ รวมทั้งการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และสุขภาพของประเทศ และยกย่องความสามารถของศัลยแพทย์ไทย ซึ่งทำให้ผู้คนที่คิดถึงการศัลยกรรมตกแต่งความงามด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ศัลยกรรมเต้านม ศัลยกรรมใบหน้า จมูก ตา ลําตัว ดูดไขมัน เป็นต้น ต่างหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทย ทั้งโดยการติดต่อผ่านเว็บไซต์ของคลีนิกศัลยกรรม โรงพยาบาลเอกชน และที่เฟื่องฟูมากที่สุดในปัจจุบันก็คือผ่านทางบริษัทตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Travel Agency) ที่ผุดขึ้นมากมายทั่วโลก ทําให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดอย่างหนึ่งในโลก ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
ตัวเลขชาวต่างชาติที่มาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พำนักระยะยาว พำนักถาวร หรือนักท่องเที่ยวที่บังเอิญเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุระหว่างมาท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลสาขาต่างๆ อาทิ เปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก สวนหัวใจ มะเร็ง ทันตกรรม สปา รวมทั้งศัลยกรรมความงามในประเทศไทยโดยเฉพาะ มีอัตราเติบโตปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ และเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
นับจากปี พ.ศ.2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยําากุ้ง จนถึงขณะนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เดินทางมาในประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2556 มีมากกว่า 1.4 ล้านคน สร้างรายได้ทั้งจากการรักษาโรคต่างๆในโรงพยาบาลเอกชน การทําาศัลยกรรม ทันตกรรม การตรวจสุขภาพ สปา และนวดแผนไทย รวมถึง การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเลขมากถึง 140,000 ล้านบาทต่อปี
และในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลตั้งเป้ารายได้ จากการท่องเที่ยวทางการแพทย์ และกิจกรรมต่อเนื่อง ไว้ถึง 225,000 ล้านบาท โดยให้ความสําคัญ กับนโยบายแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของเอเชีย (Thailand: Medical Hub of Asia) ถึงขนาดมีการคาดการณ์ว่า หากมีการวางแผนและบริหารจัดการสนับสนุนให้ดี อาจจะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในอนาคต ซึ่งนับว่าท้าทายมาก
ความเป็นไปได้ของข้อมูลนี้ย้ำชัดผ่านผลประกอบการของโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลในเครือบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ในปี พ.ศ.2556 มีสัดส่วนรายได้จากผู้รับบริการชาวต่างชาติถุง 28 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท จากยอดรายได้รวมกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดําเนินงานจากโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต โดย 5 อันดับแรกของผู้รับบริการชาวต่างชาติ คือ ญี่ปุ่น เมียนมาร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และออสเตรเลีย
โดยสรุปปัจจัยหลักที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism ของไทย ประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง นําหน้าคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ก็เพราะจุดแข็งในด้านความสามารถของแพทย์ไทยที่เทียบเท่าประเทศตะวันตก คุณภาพของโรงพยาบาลเอกชนที่เหนือกว่า การบริการของแพทย์ พยาบาล และพนักงานทุกระดับ ที่สร้างความประทับใจให้ผู้รับบริการมากกว่าที่จะได้รับในประเทศตนเอง ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลกับถูกกว่ามาก เพราะลูกค้าจะเสียเงินเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของจํานวนที่ต้องจ่าย เพื่อรับบริการแบบเดียวกันในประเทศของตน ทําให้ประหยัด และมีเงินเหลือใช้ สำหรับพักฟื้นและท่องเที่ยวต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลกอยู่มาก ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา เกาะสมุย เป็นต้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ในปี 2559-2560 โดยสำนักข่าว CNN แซงหน้ากรุงลอนดอน รามทั้งได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมากที่สุด และมีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยบริษัท Pst Office Travel Money ของสหราชอาณาจักร
ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายปีที่ผ่านมาวัฒนธรรม K–POP ของเกาหลีใต้ และการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้ธุรกิจด้านศัลยกรรมความงามของเกาหลีใต้เฟื่องฟูอย่างมาก มีการผลิตแพทย์ที่ให้บริการด้านนี้จนล้นความต้องการในประเทศ จึงต้องหาวิธีดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปทําศัลยกรรมความงามที่เกาหลีมากขึ้น รวมถึงคนไทยก็อยู่ในข่ายด้วย โดยเฉพาะศัลยกรรม ใบหน้า จมูก และตา ซึ่งหากรู้ข้อมูลในเชิงลึก จะพบว่ามีทั้งคนไทยที่ได้รับความพึงพอใจจากการไปรับการผ่าตัดเพราะได้พบศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของแพทย์ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่แพทย์ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจริงแต่ถูกหลอกลวงจากบริษัทตัวแทน ที่เห็นแก่ผลประโยชน์โดยไม่รับผิดชอบ จนสุดท้ายแล้ว ผู้เสียหายเหล่านี้ก็ต้องกลับมาให้ศัลยแพทย์ไทยแก้ไขให้
ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้งศักยภาพทางการแพทย์ สถานพยาบาล และอัตราค่าบริการในประเทศไทย ไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ และหากท่านใด ที่คิดถึงศัลยกรรมตกแต่งความงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใบหน้า จมูกตา กราม หู หรือ เต้านม ลำตัว การดูดไขมัน ท่านสามารถเสาะหาข้อมูลของศัลยแพทย์ตกแต่งผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างมีมาตรฐาน และมีวุฒิบัตร แสดงความรู้ความสามารถจากแพทยสภาโดยไม่ต้องเดินทางไกลถึงต่างประเทศ โดยสอบถามได้ที่ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย
นพ.สงวน คุณาพร