เนรมิต "ทรงจมูก" ให้ สวยเข้ารูป
รู้จักการผ่าตัดตกแต่งจมูก (Rhinoplasty)
“Rhinoplasty” เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่หมายถึง การผ่าตัดตกแต่งจมูกแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศไทย มักเข้าใจและใช้คํานี้แทนการผ่าตัดเพื่อ “เสริมจมูก” ซึ่งที่จริงแล้วไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้เสียทีเดียว เนื่องจากคําาว่า “Rhinoplasty” หรือที่ชาวต่างชาติเรียกว่า “Nose job” นั้นหมายถึงการผ่าตัดตกแต่งจมูกให้ได้รูปสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเสริมจมูกในคนที่ จมูกแบน (Augmentation rhinoplasty) หรือการผ่าตัดลดขนาดจมูกในคนที่จมูกโตด้วย (Reduction rhinoplasty) แต่เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ของคนในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ล้วนเป็นกลุ่มที่จมูกแบน ไม่มีดั้ง ปลายจมูกไม่พุ่ง คนที่ต้องการผ่าตัดตกแต่งจมูก จึงต้องการเสริมจมูกให้โด่งขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศฝั่งตะวันตก ที่มีจมูกหรือสันจมูกขนาดใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับคนในแถบเอเชีย คําว่า “Nose job” คําเดียวกันนี้ ในความหมายของประเทศฝั่งตะวันตก จึงมักจะหมายถึง การลดขนาดจมูกให้เล็กลง เช่น การลดปุ่มนูนบนสันจมูก (Hump) ที่มักมีขนาดใหญ่ ให้ได้สันจมูกที่เรียบตรง ส่วนศัพท์ที่ตรงกับความหมายของคําว่า “เสริมจมูก” ตามพฤติกรรมการรักษาของคนไทยนั้น คือคำว่า Augmentation rhinoplasty ซึ่งหมายถึงการทำให้จมูกที่ดูเล็กแบน เชิด หรือสั้น มีสภาพโด่งขึ้น พุ่งขึ้น หรือมีมิติมากขึ้นนั่นเอง
การเสริมจมูก (Augmentation rhinoplasty) ซึ่งเป็นหัตถการเสริมสวยยอดนิยมในประเทศไทย สามารถแบ่งตามลักษณะแผลผ่าตัด (approach) ได้เป็น 2 ชนิด คือ
การผ่าตัดแบบปิด (Closed rhinoplasty, Endonasal rhinoplasty) คือ การผ่าตัดจมูกโดยที่แผลทั้งหมดอยู่ด้านในของรูจมูก ไม่มีแผลที่จะมองเห็นจากภายนอกได้
การผ่าตัดแบบเปิด หรือเปิดปลาย (Open rhinoplasty, open-tip rhinoplasty) หรือที่นิยมเรียกในสังคมออนไลน์ว่า การผ่าแบบโอเพ่น คือการผ่าตัดแผลด้านในจมูก เหมือนการผ่าตัดแบบปิด แต่มีแผลด้านนอก ผ่านแกนระหว่างรูจมูก (transcolumella incision) เพื่อจะเชื่อมไปยังแผล ผ่าตัดด้านในรูจมูกอีกข้าง ทําให้ศัลยแพทย์สามารถถลกหนังจมูกขึ้น จนเห็น โครงสร้างกระดูกอ่อน และกระดูกภายในจมูกทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดทั้งแบบปิดและแบบเปิด ไม่ได้บ่งบอกถึงกระบวนการต่างๆ ที่ศัลยแพทย์จะกระทําภายในจมูกแต่อย่างใด เพราะศัลยแพทย์บางท่านอาจผ่าตัดเปิดจมูกเพื่อเอาซิลิโคนไปวางเท่านั้น ขณะที่ศัลยแพทย์อีกท่านอาจผ่าตัดเปิดจมูก เพื่อปรับโครงสร้างของจมูก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากกว่าชนิดของแผลทั้งแบบปิดและแบบเปิดจึงอยู่ที่ว่าได้ทำอะไรกับจมูกในเชิงโครงสร้างไปบ้าง ต่อไปเรามาดูกันว่าในเชิงโครงสร้างของจมูกแล้ว มีวิธีไหนที่สามารถทําได้บ้างในปัจจุบัน
การแบ่งชนิด การผ่าตัดเสริมจมูก ตามวิธี ปรับโครงสร้าง
การเสริมจมูกก็เหมือนการสร้างบ้าน ถ้าเรามีบ้านสักหลังที่มีลักษณะ แบนและเตี้ย ดูไม่สวยงาม แต่เราอยากให้บ้านเราสูงโปร่ง โด่งสวยเหมือน บ้านคนอื่น จะมีวิธีอะไรได้บ้างนั้น ผู้เขียนแบ่งวิธีการเสริมจมูกออกเป็นสอง วิธีใหญ่ๆ คือ
การเสริมโดยนําวัสดุวางไว้ด้านบน (On-top augmentation)
ถ้าเปรียบกับบ้าน ก็คือการเสริมหลังคาบ้านให้หนาขึ้น เพื่อที่จะทําให้บ้านทั้งหลังดูสูงขึ้น วิธีนี้เป็นที่นิยมทั่วไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน และวิธีนี้ยังรวมตั้งแต่การเสริมด้วยวัสดุสังเคราะห์ชนิดต่างๆ ไปจนถึงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ จากตัวคนไข้เอง อาทิเช่น ซิลิโคนชนิดต่างๆ, Gortex Medpor, หนังเทียม (Acellular dermal matrix), กระดูกอ่อนหลังหู, กระดูกอ่อนซี่โครง, กระดูกอ่อนในโพรงจมูก, กระดูกแข็งเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (fascia) จากบริเวณต่างๆ ไขมัน ผิวหนังติดไขมัน (dermal fat graft) ของคนไข้เอง เป็นต้นจขจขภทมวัสดุที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ว่าเป็นวัสดุสังเคราะห์หรือแม้แต่เนื้อเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆของคนไข้เอง ถ้าหากถูกนํามาเสริมใต้ผิหนัดยการวางทับ บนโครงสร้างกระดูก หรือกระดูกอ่อนดั้งเดิมของคนไข้แล้วจัดเป็นวิธีการเสริมแบบ On-top ทั้งสิ้น
การเสริมโดยการปรับโครงสร้างภายในจมูก (Structure-integrated augmentation)
คือการปรับโครงสร้างภายในของจมูก ที่มีมาแต่กําเนิดให้เปลี่ยนไปในแบบที่ต้องการโดยการปรับโครงสร้างภายในจมูก แต่ละส่วนก็จะส่งผลกับรูปทรงภายนอกในส่วนต่างๆของจมูกต่างๆกันไป เช่น การปรับกระดูกอ่อนปลายจมูก สามารถทําให้ปลายจมูกเล็กลง พุ่งขึ้น คว่ำลง หรือหงายขึ้น ตามแต่ศัลยแพทย์ต้องการได้ เมื่อปลายจมูกโด่งพุ่งขึ้นจากการปรับกระดูกอ่อนปลายจมูก รูจมูกก็จะยาวขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ขณะเดียวกันปีกจมูกก็มักจะหุบแคบลงตามมาด้วย เป็นต้น
ถ้าเปรียบเทียบการเสริมจมูกกับการสร้างบ้าน กระบวนการปรับโครงสร้างก็คือการยืดเสา ตั้งคานบ้านใหม่ เพื่อให้โครงสร้างใหม่เป็นทรงที่สูงโด่งขึ้นตามต้องการ ได้สัดส่วนและรายละเอียดที่ใกล้เคียงกับจมูกที่โด่งและมีอยู่จริงตามธรรมชาตินั่นเอง
เนื่องจากโครงสร้างหลักๆ บริเวณปลายจมูกนั้น ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเป็นหลักดังนั้นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการนำมาปรับใช้โครงสร้างจมูก โดยเฉพาะบริเวณปลายจมูก ก็คือ กระดูกอ่อน (cartilage) จากส่วนต่างๆ ของตัวคนไข้นั่นเอง เพราะการนำกระดูกอ่อนมาปรับโครงสร้าง เมื่อระยะเวลาผ่านไปร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อมายึดชิ้นกระดูกอ่อนที่ใส่เข้าไปใหม่ ผสานกับกระดูก อ่อนที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ ให้คงรูปในระยะยาวได้ โดยปราศจากปฏิกิริยาต่อต้าน เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อของคนไข้เอง
กระดูกอ่อนที่ได้รับความนิยมในการนํามาใช้นั้น หลักๆแล้วสามารถนํามาได้จากสามแหล่ง คือ
1. กระดูกอ่อนในจมูกเองรวมถึงกระดูกอ่อนจากผนังกั้นจมูก (sep-tum cartilage) และกระดูกอ่อนบริเวณปลายจมูก (alar cartilage)
2. กระดูกอ่อนจากใบหู (ear cartilage)
3. กระดูกอ่อนจากซี่โครง (costal cartilage) ซึ่งมีข้อดีข้อเสียในเชิงเทคนิคต่างกันไป
ส่วนการเสริมบริเวณสันจมูกจนถึงระหว่างตานั้น ทําได้ด้วยการใส่วัสดุสังเคราะห์ต่างๆ ซิลิโคน Gore-tex ฯลฯ หรือเนื้อเยื่อของคนไข้เอง ก็สามารถทําได้โดยปลอดภัยเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะการทะลุ พบน้อยมากบริเวณดั้งและสันจมูก แต่จะพบมากบริเวณปลายจมูกเป็นหลัก
ถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงมีคําถามในใจว่า “แล้วใครเหมาะกับวิธีไหน” กันบ้าง
การผ่าตัดทั้งแบบ On-top และ Structure-integrated สามารถ ทําได้ทั้งวิธีการผ่าตัดแบบปิด และแบบเปิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชํานาญของศัลยแพทย์ และความหนักหนาของโครงสร้างจมูกที่ต้องเข้าไปปรับเป็นหลัก ส่วนมากการเสริมจมูกแบบ On-top นั้น เกือบทั้งหมดทําได้โดยการผ่าตัดแบบปิด เนื่องจากกระบวนการผ่าตัดไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไปนัก
ส่วนการผ่าตัดเปิดปลายจมูกจะให้ผลดีก็ต่อเมื่อต้องปรับโครงสร้างภายในของจมูก เพราะทําให้ศัลยแพทย์สามารถเห็นโครงสร้างกระดูกอ่อน ภายในจมูกได้อย่างชัดเจน จึงปรับโครงสร้างดังกล่าวได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น การตัดแต่ง ต่อ เย็บกระดูกอ่อนปลายจมูก หรือต่อความยาวกระดูกอ่อน ผนังกั้นจมูก เป็นต้น
การผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมจมูกนั้นมีความแตกตา่งกันในรายละเอียด ซึ่งแผลผ่าตัดแต่ละแบบก็ส่งผลโดยตรงต่อวิธีการผ่าตัด ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีการผ่าตัดผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น การผ่าตัดเสริมจมูกแบบเสริมจากด้านบน ส่วนมากสามารถทําได้ด้วยวิธีผ่าตัดแบบปิด ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดหรือเปิดปลาย จะได้ประโยชน์น้อยมาก หากต้องการผ่าตัดเพียงเพื่อเสริมจมูกแบบวางด้านบนอย่างเดียว ส่วนการผ่าตัดแบบเปิดทําให้เกิดบาดแผลภายนอกมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ทําให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างภายในจมูกได้ชัดเจนส่งผลให้สามารถผ่าตัดแบบปรับโครงสร้าง (Structure-integrated) ได้แม่นยํา
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบปรับโครงสร้างจมูกในบางกรณีที่ไม่ต้องการปรับโครงสร้างละเอียดซับซ้อนมากก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบปิดเช่นกัน กรณีนี้เรียกว่า การปรับโครงสร้างแบบเอ็นโด (Endo rhinoplasty, endonasal rhinoplasty)
สําหรับการผ่าตัดแบบเปิด นับเป็นการผ่าตัดที่ต้องการศัลยแพทย์ ซึ่งมีความชํานาญสูงกว่า เพราะหากทําไม่ถูกวิธีจะเกิดความเสียหายได้มากกว่า และความเสียหายจากการผ่าตัดแบบเปิด มักเป็นความเสียหายผิดรูปถาวร แก้ไขได้ยาก
แผลบริเวณแกนจมูกของการผ่าตัดแบบเปิด (transcolumella incision) ถ้าทําถูกวิธีและเย็บแผลอย่างละเอียด จะมองเห็นได้ยากมาก เมื่อแผลเป็นหายสมบูรณ์ (mature) ซึ่งอาจใช้เวลา 3-6 เดือนขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าทําไม่ถูกวิธีก็ทําให้แผลปรากฏเห็นได้ชัดเจนเช่นกัน
ข้อคิด ก่อนเลือก วิธีผ่าตัดเสริมจมูก
การผ่าตัดแบบเสริมด้านบน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนจะผ่าตัดแก้ไขใหม่ ได้ง่ายกว่า แบบปรับโครงสร้าง
การผ่าตัดแบบเสริมด้านบน ได้ผลดีในผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกอ่อนของปลายจมูกที่แข็งแรง ปลายจมูกเล็กได้รูป จมูกไม่สั้น แหงน ต้องการผ่าตัดให้เปลี่ยนแปลงปลายจมูกไม่มากนักและต้องมีเนื้อปลายจมูกไม่บางจนเกินไป
การผ่าตัดแบบเสริมด้านบน ได้ผลดีในผู้ที่ต้องการเสริมบริเวณสันและด้ังบริเวณระหว่างตาเป็นหลัก เพราะบริเวณสันและดั้ง มีโอกาสทะลุน้อยกว่าหากเทียบกับบริเวณปลายจมูก
คนที่กระดูกอ่อนปลายจมูกไม่แข็งแรง (สังเกตจากใช้นิ้วกดปลายจมูกแล้วรู้สึกนิ่ม) ไม่เหมาะกับการเสริมด้วยซิลิโคนแบบเสริมด้านบน เพราะกระดูกอ่อนมักจะรับน้ำหนักซิลิโคนไม่ไหว ทําให้ทรุดลงส่งผลให้รูจมูกแบนหรือเบี้ยวผิดรูปได้ง่าย แม้จะใช้ซิลิโคนแบบมีขาค้ำก็ตาม
ลักษณะจมูกที่เหมาะและได้ประโยชน์จากการผ่าตัดแบบปรับโครงสร้าง คือจมูกที่สั้น เชิดแหงน ปลายจมูกใหญ่แบน ปลายจมูกยาวงุ้มเกินไป สันจมูกโตใหญ่สูง มีโหนก (hump) หรือ สันจมูกเบี้ยว แกนจมูกเบี้ยว รูจมูกแบนเบี้ยว ไม่เท่ากัน หรือจมูกที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดครั้งก่อน เป็นต้น
การผ่าตัดแบบบปรับโครงสร้าง สามารถปรับโฉมจมูกได้มากกว่าวิธีเสริมด้านบน และมองดูเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ต้อง ทําอย่างถูกวิธีโดยศัลยแพทย์ที่ชํานาญเท่านั้น
การผ่าตัดแบบปรับโครงสร้างจมูกที่ผิดวิธีมักเกิดความเสียหายได้มากและรุนแรงกว่าวิธีเสริมด้านบน ดังนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์อย่างมาก
การผ่าตัดแบบปรับโครงสร้างจมูก ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า และค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผ่าตัดแบบวางวัสดุเสริมด้านบน
ยิ่งเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขหลายครั้ง จะยิ่งทําให้การผ่าตัดครั้งต่อไปยากยิ่งขึ้น เพราะการผ่าตัดแต่ละครั้งจะเกิดพังพืดเพิ่มขึ้นภายในเสมอ
ไม่มีกฏตายตัวว่าจมูกแบบใดต้องใช้การผ่าตัดแบบไหน การตัดสินใจเลือกวิธีผ่าตัดขึ้นอยู่กับการปรึกษาระหว่างคนไข้กับ ศัลยแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียและตกลงเลือกการผ่าตัด ที่เหมาะสมที่สุดร่วมกัน
วัสดุที่ใช้ เสริมจมูก มีอะไรบ้าง
การทําให้จมูกโด่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณดั้งจมูก สันจมูก หรือปลายจมูก ย่อมต้องหาวัสดุมาเติมเข้าไป วัสดุที่ใช้ต้องไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย และต้องไม่กระตุ้นให้เกิดภาวะการอักเสบหรือการต่อต้านจากร่างกายมนุษย์ หากไม่รวมการฉีดจมูกด้วยสารต่างๆแล้วสามารถแบ่งวัสดุที่ใช้เสริง ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
เนื้อเยื่อทางชีวภาพ (biologic material)
เนื้อเยื่อทางชีวภาพ รวมไปถึงเนื้อเยื่อจากตัวคนไข้เอง (autologus graft) ถือเป็นวิธีที่วงการแพทย์ให้การยอมรับ เพราะไม่มีการต่อต้านจากร่างกาย และหากผ่านการผ่าตัดที่สะอาดถูกวิธีโอกาสการติดเชื้อน้อยมาก ซึ่งเนื้อเยื่อจากตัวคนไข้เอง เมื่อถูกเสริมเข้าไปแล้ว ร่างกายจะสมานเนื้อเยื่อใหม่เข้ากับเนื้อเยื่อบริเวณจมูกและสร้างหลอดเลือดใหม่ขนาดเล็กเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ทำให้เนื้อเยื่อที่ใส่เข้าไปมีชีวิตรอดและคงอยู่ได้ถาวร แต่มีข้อเสียคือต้องเจ็บตัว และมีแผลในร่างกายเพิ่มอีกจากจุดที่ผ่าตัด เอาเนื้อเยื่อจุดอื่นมาใช้ อีกทั้งทําให้การผ่าตัดซับซ้อนขึ้น ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น สําหรับเนื้อเยื่อจากตัวคนไข้เองที่นิยมใช้เสริมจมูกในปัจจุบัน ได้แก่
กระดูกอ่อน เป็นเนื้อเยื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะโครงสร้างตามธรรมชาติของจมูกมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเป็นส่วนใหญ่ การนําวัสดุที่เหมือนกันมาใช้จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยกระดูกอ่อนในร่างกายที่นํามาใช้เสริมจมูกได้นั้น มาจาก 3 บริเวณด้วยกัน คือ
1. กระดูกอ่อนในจมูก เมื่อผ่าตัดเข้าไปในจมูกแล้วศัลยแพทย์สามารถเอากระดูกจากผนังกั้นกลางจมูก (septum) มาใช้ได้บางส่วน คนที่กระดูกอ่อนปลายจมูกมีขนาดใหญ่ (alar cartilage) เมื่อตัดและตกแต่งปลายจมูกแล้วจะมีกระดูกอ่อนส่วนเกินที่นํามาใช้ได้อีก ข้อดีของการใช้กระดูกอ่อนบริเวณนี้ คือไม่ต้องเจ็บตัวบริเวณอื่นอีก แต่คนแถบเอเชีย มักมีกระดูกอ่อน ขนาดเล็ก บาง และไม่แข็งแรง จึงไม่เพียงพอต่อการนํามาใช้งาน
2. กระดูกอ่อนใบหู (conchal cartilage หรือ ear cartilage) โครงสร้างใบหู ประกอบด้วย กระดูกอ่อนขนาดใหญ่ ซึ่งกระดูกอ่อนส่วนโค้ง นูนด้านหลังใบหู สามารถแบ่งมาใช้เสริมจมูกได้ โดยไม่ทําให้รูปร่างหูเสียทรง จึงนิยมนํามาวางเสริมทับกระดูกอ่อนบริเวณปลายจมูก หรือแปะคลุมปลาย ซิลิโคน เพื่อลดแรงกระทําต่อผิวหนังบริเวณปลายจมูก หวังผลเพื่อชะลอการ ทะลุของซิลิโคน ศัลยแพทย์ที่ชำนาญยังสามารถนำกระดูกอ่อนใบหูที่โค้งมาทำให้ตรงและนำไปปรับแกนโครงสร้างของจมูกได้ด้วย นอกจากนั้นกระดูกอ่อนหลังใบหูยังสามารถนําไปสับให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นฟิลเลอร์ธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความสูงของสันและดั้งจมูกได้อีกด้วย
การผ่าตัดเพื่อเอากระดูกอ่อนหลังหูนั้นสามารถทำได้ภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ แผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณกกหูด้านหลัง การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 15 นาที ต่อข้าง การจะผ่าตัดข้างเดียวหรือสองข้างนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณกระดูกอ่อนที่ต้องการใช้ ส่วนความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดนั้นนับว่าไม่มากนัก เปรียบเทียบได้กับการโดนมีดบาด
ข้อเสียของกระดูกอ่อนใบหูคือ กระดูกอ่อนมีปริมาณจำกัด ถ้าต้องการปรับทรงจมูกมาก กระดูกอ่อนบริเวณใบหูมักมีปริมาณไม่เพียงพอในรายที่คนไขสันจมูกเตี้ยมาก มักต้องใช้ร่วมกับวัสดุสังเคราะห์ เช่น ซิลิโคน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ถ้าหากได้รับการผ่าตัดเอากระดูกอ่อนไม่ถูกวิธี หรือมีการคั่งของเลือดอยู่ภายในอาจส่งผลให้ใบหูผิดรูปเสียโฉมได้ด้วยเช่นกัน
3. กระดูกอ่อนซี่โครง (costal cartilage หรือ rib cartilage) ซี่โครงมนุษย์ ประกอบด้วยกระดูกแข็งและกระดูกอ่อน กระดูกอ่อนจะอยู่บริเวณกลางหน้าอกด้านในต่อตำแหน่งหัวนม โดยกระดูกอ่อนจะเชื่อมระหว่างกระดูกกลางหน้าอก (sternum) และกระดูกซี่โครง ส่วนกระดูกแข็งเนื่องจากเป็นแหล่งกระดูกอ่อนที่มีมากที่สุดในร่างกายจึงมีปริมาณเกินพอสำหรับการเสริมจมูก
การนำกระดูกอ่อนมาใช้นั้นอาจนำมาทั้งท่อนกระดูกอ่อนซี่โครงหรือฝานเฉพาะผิวหน้ากระดูกอ่อนมาเพียงบางส่วนขึ้นอยู่กับปริมาณกระดูกอ่อนที่ต้องใช้ กระดูกอ่อนซี่โครงที่ได้มาแล้ว ศัลยแพทย์มักต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนําไปใช้ตั้งเสาและคานสําหรับโครงสร้างใหม่ของปลายจมูก ส่วนบริเวณสันและดั้งจมูกนั้นสามารถเสริมได้สองวิธี คือเหลากระดูกอ่อนเป็นแท่ง เข้ารูปเหมือนการเหลาแท่งซิลิโคน แล้วสอดเข้าไปใต้เยื่อหุ้มกระดูกเพื่อเสริมให้สันและดั้งจมูกสูงขึ้น และวิธีที่สองคือการเอากระดูกอ่อนซี่โครงมาสับให้ละเอียด แล้วใส่เข้าไปในโพรงใต้เยื่อหุ้มกระดูก จากนั้นป้ันให้ได้รูปทรงที่ต้องการ
ข้อเสียของการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงเหลาแท่งสำหรับการเสริมสันจมูก คือกระดูกอ่อนที่เหลาไว้อาจมีการโค้งเบนหรือที่เรียกว่า วาร์ป (warping) ในภายหลังทำให้ทรงจมูกผิดไปจากที่ต้องการได้ ส่วนกระดูกอ่อนสับ (diced cartilage) นั้น ถ้าสับไม่ละเอียดพอก็อาจเป็นปุ่มป่ำไม่เรียบ คลําได้โดยเฉพาะในคนไข้ผิวบาง นอกจากนั้นกระดูกอ่อนสับยังสามารถไหลไปในส่วนที่เราไม่ต้องการก่อให้เกิดปุ่มปมในบริเวณที่ไม่ต้องการได้
การจะเลือกใช้กระดูกอ่อนเป็นแท่ง หรือเป็นกระดูกอ่อนสับเพื่อเสริมสันจมูกนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความถนัดและเทคนิคเฉพาะตัวของศัลยแพทย์เนื่องจากต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัวในการป้องกันปัญหาข้างต้น เช่น การนำเนื้อเยื่อบางชนิดมาห่อกระดูกอ่อนสับเพื่อกันการไหล หรือการนำกาว fibrin glue มาใช้ เป็นต้น
ความเสี่ยงที่สําคัญจากการผ่าตัดเอากระดูกอ่อนซี่โครงมาใช้ คือ การบาดเจ็บต่อเยื่อหุ้มปอด เนื่องจากกระดูกอ่อนซี่โครงอยู่ใกล้เยื่อหุ้มปอด จึง มีความเสี่ยงต่อภาวะปอดรั่วได้ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามถ้าหากได้รับการผ่าตัดอย่างถูกวิธี ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นต่ำมาก หรือถึงแม้ว่าจะเกิดการบาดเจ็บต่อเยื่อหุ้มปอดขึ้นจริง ศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ที่ได้มาตรฐาน จะสามารถวินิจฉัยและเย็บซ่อมแซมรักษาเยื่อหุ้มปอดได้อย่างทันท่วงทีในห้องผ่าตัด ส่งผลให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อคนไข้
การผ่าตัดเสริมจมูกด้วยกระดูกอ่อนซี่โครงเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้เวลาผ่าตัดนาน ค่าใช้จ่ายสูง มีความเจ็บปวดต่อแผลหน้าอกหลังผ่าตัดมากกว่าการใช้กระดูกอ่อนจากใบหู การตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จึงควรกระทําโดยศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
หนังแท้ (dermal graft) การใช้หนังแท้มาเสริมจมูก คือการผ่าตัดเอา หนังจากบริเวณใดบริเวณหนึ่งในร่างกาย โดยตัดหนังเป็นรูปลูกรักบี้แล้วเย็บปิดแผลเป็นเส้นตรง ตําแหน่งยอดนิยมในการผ่าตัดเอาหนังแท้ คือบริเวณร่องระหว่างก้นสองข้างใกล้กระดูกก้นกบ เพราะมีความหนากว่าบริเวณอื่น และแผลเป็นสามารถซ่อนตัวอยู่ในร่องก้นได้ดี หนังที่ได้มานั้นศัลยแพทย์จะตัดเอาหนังกําพร้าด้านบนออก แล้วนําเฉพาะส่วนหนังแท้ด้านล่างไปเสริมบริเวณต่างๆ ของจมูกตามต้องการ หนังแท้ เหมาะแก่การนํามาเสริมปลายจมูกในคนที่หนังจมูกบาง เพื่อเพิ่มความหนาของเนื้อจมูก นอกจากนั้นมีรายงานการนําหนังแท้ไปเสริมสันจมูกซึ่งอาจช่วยให้สันจมูกสูงขึ้นได้บ้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตามหนังแท้ที่เสริมไว้มักฝ่อตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเวลาผ่านไปทําให้ไม่ได้รับความนิยมนัก
หนังแท้ติดไขมัน (dermal fat graft) เป็นการเอาเนื่อเยื่อลักษณะเดียวกับการผ่าเอาหนังแท้ ต่างกันตรงที่ศัลยแพทย์จะเอาไขมันด้านลึกที่อยู่ติดกับหนังแท้มาด้วย เพื่อเพิ่มความหนาของเนื้อเยื่อ วิธีนี้ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากไขมันที่ติดมามีการฝ่อตัวสูงมาก ทําให้ไม่ได้รูปทรงที่น่าพอใจในระยะยาว
เยื่อหุ้มกระดูก และเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (periosteum and fascia) ถูกนํามาใช้ใน 2 กรณีหลักๆ วิธีแรก คือนํามาใช้คลุมปลายซิลิโคน เพื่อป้องกันการทะลุของซิลิโคน แต่วิธีนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ประโยชน์มากนัก และมีรายงานการทะลุของซิลิโคนอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะมีการหุ้มด้วยเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อแล้วก็ตาม ส่วนวิธีที่สองคือการนํามาห่อกระดูกอ่อนสับ เพื่อป้องกันการไหลของกระดูกอ่อนไปในที่ที่ไม่ต้องการ วิธีนี้ได้ผลดีในคนไข้ที่หนังจมูกบาง แต่ในคนไข้ที่หนังจมูกหนาจะทําให้ดูหนาเทอะทะขึ้นจนไม่เป็นธรรมชาติ
นอกจากเนื้อเยื่อจากตัวคนไข้เองแล้ว ยังมีเนื้อเยื่อจากศพผู้บริจาค (human cadaveric tissue) ซึ่งโดยปกติแล้ว จะไม่สามารถนําเนื้อเยื่อจากบุคคลอื่นมาใช้ได้ง่ายๆ เนื่องจากร่างกายแต่ละคน จะสร้างปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์จากคนอื่น ทําให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบรุนแรง และเนื้อเยื่อสลายตัวในที่สุด อย่างไรก็ตามก็ยังมีเนื้อเยื่อจากบุคคลอื่นที่อาจนํามาใช้ได้ ดังนี้
กระดูกอ่อนจากศพผู้บริจาค (human cadaveric cartilage) เนื่องจากกระดูกอ่อนเป็นเนื้อเยื่อพิเศษที่มีเซลล์กระจายตัวอยู่น้อยจึงพบการต่อต้านจากร่างกายค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อเยื่อชนิดอื่น อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า จมูกที่เสริมจากกระดูกอ่อนบริจาคนั้น มีการกร่อนตัว สลายตัวแบบไม่สามารถคาดเดาได้ในระยะยาว และเมื่อรักษาเกิน 4 ปีขึ้นไป จะส่งผลให้ทรงจมูกเปลี่ยนรูป ไม่เหมือนที่ศัลยแพทย์ทําไว้ในตอนแรก ด้วยสาเหตุนี้จึงทําให้วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยม
ผิวหนังแท้จากศพผู้บริจาค (human cadaveric dermis) เป็นการนำชั้นหนังแท้จากศพผู้บริจาค ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำจัดเซลล์ที่มีอยู่ในผิวหนังออกให้หมด จะทําให้ผิวหนังแท้คงเหลือแต่โครงสร้างซึ่งปราศจากเซลล์เท่านั้น วิธีนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ADM หรือ acellular dermal matrix หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า หนังเทียม นั่นเอง
เนื้อเยื่อจากสัตว์ การนําเนื้อเยื่อจากสัตว์ต่างสายพันธุ์ (species) มาปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงกว่าการนำเนื้อเยื่อมนุษย์ต่างบุคคลมาใช้มาก ปัจจุบันมีการนำเนื้อเยื่อจากสัตว์บางชนิดมาผ่านกระบวนการกําจัดเซลล์และผลิตเป็นหนังเทียม หรือ ADM ซึ่งเป็นกรณีเดียวที่สามารถนําเนื้อเยื่อจากสัตว์มาใช้ในมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หนังเทียมหรือ ADM ไม่ว่าจะทํามาจากมนุษย์หรือสัตว์ ก็ไม่ต่างจากเป็นหนังแท้ ที่มีคุณสมบัติอ่อนนุ่ม จึงไม่เหมาะนักที่จะใช้เสริมสร้างส่วนที่เป็นโครงสร้าง เช่น สันจมูก แต่เหมาะที่จะใช้เสริมปลายจมูกของผู้ที่มีปัญหาปลายจมูกบางเพราะใส่ซิลิโคนมานาน เป็นต้น อีกทั้งข้อเสียอีกประการหนึ่งของ ADM คือราคาสูง จึงเป็นอุปสรรคในการผ่าตัดเสริมจมูก อยู่พอสมควร
วัสดุสังเคราะห์ (alloplastic material)
เป็นวัสดุสังเคราะหจ์ากโรงงานและต้องเป็นชนิดที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้มาตรฐาน สามารถใช้ในตัวผู้รับการรักษาได้ ข้อดีของวัสดุสังเคราะห์ คือหาง่าย ราคาไม่สูง ประหยัดเวลาผ่าตัด ไม่ต้องเจ็บตัวหลายที่ เพื่อที่จะผ่าเอาเนื้อเยื่อตนเองมาใช้ ส่วนข้อเสียของวัสดุสังเคราะห์คือ มีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ เพราะ หากมีเชื้อโรคเข้าไปเกาะวัสดุสังเคราะห์เมื่อใด ก็มักก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงบ่อยครั้ง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ จึงมักลงเอยด้วยการถอดวัสดุสังเคราะห์ออกจึงจะสามารถกําจัดการติดเชื้อได้สําเร็จ และเนื่องจากเป็นสารแปลกปลอมต่อร่างกาย เมื่อใส่เข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างพังผืดเป็นแคปซูลมาหุ้มไว้ ซึ่งพังผืดเหล่านี้มีคุณสมบัติหดตัว ทําให้บางครั้ง หดรัดวัสดุสังเคราะห์ที่เสริมเข้าไปจนส่งผลให้จมูกผิดรูปได้
นอกจากนี้ หากวัสดุสังเคราะห์ที่ใส่เป็นเวลานาน เกิดแรงกระทําระหว่างวัสดุสังเคราะห์กับเนื้อจมูกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายที่จมูกสั้น และใช้ซิลิโคนหรือวัสดุสังเคราะห์อื่นดันให้จมูกยาวขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อที่ถูกวัสดุสังเคราะห์ดันอยู่ตลอดเวลาจะบางลง (เช่นปลายจมูก หรือ เนื้อเยื่อในโพรงจมูกด้านใน) ทำให้เริ่มมองเห็นแท่งซิลิโคนหรือวัสดุสังเคราะห์ถ้าปล่อยไว้นานอาจทําาให้วัสดุสังเคราะห์ทะลุออกมานอกผิวได้
วัสดุที่นิยมใช้ในการเสริมจมูกได้แก่ ซิลิโคน (Silicone), PTFE หรือ ที่นิยมเรียกว่า กอร์เท็กซ์ (Gore-tex), เม็ดพอร์ (Medpor) เป็นต้น
ซิลิโคน เป็นวัสดุที่นิยมใช้มากที่สุดในการเสริมจมูก เนื่องจากเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่หาง่ายราคาไม่แพง หรือวัสดุสามารถเหลาปรับรูปร่างได้ง่ายมีความแข็งหลายระดับให้เลือก ตั้งแต่แข็งมากจนถึงนิ่มมาก เมื่อใส่เข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายจะสร้างแคปซูลหุ้มไว้ โดยที่ซิลิโคนจะไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกับแคปซูล ทําให้สามารถถอดออกได้โดยง่ายถ้าหากเกิดปัญหา
ซิลิโคนที่ควรเลือกใช้ อาจผลิตจากประเทศใดก็ได้ แต่ที่สําคัญคือควร เป็นซิลิโคนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นซิลิโคนคุณภาพดีที่ใช้สําหรับการแพทย์ เพื่อฝังในร่างกายของคนได้อย่างปลอดภัย (Implantable medical grade) ไม่ใช่ซิลิโคนที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Industrial grade) ซึ่งซิลิโคนที่นิยมใช้มักมีให้เลือกในสองลักษณะ คือ แบบที่ขึ้นรูปมาจากโรงงาน และแบบแท่ง สี่เหลี่ยม ที่ศัลยแพทย์ต้องใช้มีดเหลาเองในห้องผ่าตัดเพื่อให้ได้รูปเหมาะกับ ผู้ป่วยแต่ละราย
ข้อดีของซิลิโคนแบบขึ้นรูปมาจากโรงงานคือ ประหยัดเวลาการเหลา ปรับรูปร่างในห้องผ่าตัด แต่ถึงแม้จะขึ้นรูปมาแล้ว ก็มักต้องเหลาเพิ่มในห้องผ่าตัดเสมอ เนื่องจากซิลิโคนที่ขึ้นรูปแบบสำเร็จจากโรงงาน ไม่สามารถทำให้พอดีกับคนไข้ทุกรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์
PTFE (polytetrafluoroethylene) หรือนิยมเรียกกันด้วยชื่อการค้า ว่า กอร์เท็กซ์ (Gore-tex) PTFE เป็นวัสดุสังเคราะห์ทีใช้มากในศัลยกรรมหลอดเลือด โดยเริ่มใช้เป็นหลอดเลือดเทียมในการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด หรือทําหลอดเลือดเทียมเพื่อใช้ในการฟอกไต เพราะพบว่าปฏิกิริยาของร่างกายที่กระทําาต่อ PTFE น้อยมาก จึงนํามาใช้เป็นทางเลือกในการเสริมจมูก ถ้าเปรียบเทียบกับซิลิโคนแล้ว PTFE จะมีความแข็งใกล้เคียงกับซิลิโคนที่มีระดับความแข็งปานกลาง สามารถเหลาปรับรูปร่างได้ง่าย ตัววัสดุมีรูพรุนขนาดเล็ก เมื่อใส่เข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อแทรกเข้าไปในรูพรุนเล็กๆ เหล่านั้น ทําให้โอกาสที่ PTFE จะเคลื่อนตัวมีน้อยกว่า แต่อีกด้านหนึ่งหากต้องผ่าตัดแก้ไขก็จะทําให้การดึงออกยากกว่าซิลิโคนเช่นกัน
นอกจากนี้ ราคายังสูงกว่าซิลิโคนพอสมควร ปัจจุบัน PTFE ได้รับความนิยมนำมาเป็นวัสดุสังเคราะห์เพื่อเสริมจมูกสูงเป็นอันดับสองรองจากซิลิโคน
เม็ดพอร์ (Medpor) ชื่อเต็มคือ high density porous polyeth- ylene material เป็นวัสดุสังเคราะห์ชนิดค่อนข้างแข็ง ถูกใช้เพื่อผ่าตัดเสริม สร้างกระดูกใบหน้าให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมานานแล้ว เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีรูพรุนมากเมื่อใส่เข้าไปในร่างกายจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดแทรกเข้าไปทั่วชิ้น ดังนั้นเมื่อนํา Medpor มาใช้เสริมจมูก จะมีข้อดีคือวัสดุมักติดแน่น ไม่เคลื่อนที่หลังผ่าตัด แต่ข้อเสียที่สำคัญคือ ทำให้ถอดออกยากหากต้องผ่าตัดแก้ไข นอกจากนั้น Medpor มีลักษณะแข็ง ทําให้ปรับรูปตามต้องการได้ยาก จึงไม่นิยมนำมาใช้เสริมจมูก
ข้อควรคํานึง ในการเลือกวัสดุเพื่อเสริมจมูก
การเสริมจมูกด้วยเนื้อเยื่อตัวเอง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน จะอยู่กับร่างกายได้นานตลอดชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมเจ็บตัวจากแผลที่เพิ่มขึ้นจากการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อมาใช้ ซึ่งการผ่าตัดซับซ้อนขึ้น ราคา สูงขึ้น และต้องการความชำนาญของศัลยแพทย์มากกว่า
เมื่อใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายจะสร้างพังพืดมาล้อมรอบเสมอ โดยอาจสร้างพังผืดหุ้มรอบวัสดุในรูปแคปซูล เช่นในกรณีของซิลิโคน หรือสร้างพังผืดแทรกเข้าไปในเนื้อวัสดุ เช่นในกรณีของ Medpor
Medpor เมื่อใส่เข้าไปในจมูก จะมีพังผืดแทรกเข้าไปในเนื้อวัสดุมาก และมีปฏิกิริยาการอักเสบโดยรอบมาก ทําให้ถอดออกยากหากต้อง ผ่าตัดแก้ไข
ซิลิโคน และกอร์เท็กซ์ (PTFE) ให้ผลการรักษาแทบไม่ต่างกัน การเลือกใช้ขึ้นกับความถนัดของศัลยแพทย์เป็นหลัก
“ไม่มีซิลิโคน หรือวัสดุเสริมชนิดใด หรือทรงใด ที่จะเหมาะกับคนทุกคน” ขณะที่ซิลิโคนสําเร็จรูป ก็ไม่ได้ดีกว่าซิลิโคนชนิดเหลาเองเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่ารูปร่างซิลิโคนสุดท้ายเข้ากับจมูกเราได้พอดีหรือไม่ อีกทั้งยังมีโอกาสน้อยมาก ที่ซิลิโคนสําเร็จรูปจะพอดี 100 เปอร์เซ็นต์ กับจมูกเรา ศัลยแพทย์มักต้องเหลาและปรับแต่งซิลิโคนเพิ่มเติม เพื่อให้พอดีกับคนไข้ แต่ละรายมากที่สุด
ถ้าหากมีซิลิโคนที่บริเวณปลายจมูกให้เตรียมใจว่าในอนาคต 3-10 ปีข้างหน้า หนังอาจบางลงทําให้คลําหรือมองเห็นแท่งซิลิโคนได้ และมีความเสี่ยงต่อการทะลุในบางราย จนต้องผ่าตัดแก้ไขในภายหลัง
มีคนไข้จำนวนมากที่เสริมจมูกด้วยซิลิโคนหรือกอร์เท็กซ์ถึงปลายจมูก และสามารถอยู่กับวัสดุแท่งนั้นแบบปราศจากภาวะแทรกซ้อนได้เกิน 30-40 ปี แต่ก็มีคนไข้บางรายที่ประสบกับภาวะแทรกซ้อน เช่น ปลายจมูกบาง หรือ ซิลิโคนทะลุ อันนํามาสู่การผ่าตัดแก้ไขในภายหลัง
การนำกระดูกอ่อน หรือเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆมาแปะไว้หน้าปลายซิลิโคน ไม่ได้ลดโอกาสซิลิโคนทะลุ แต่อาจชะลอเวลาการทะลุของซิลิโคนลงได้บ้าง สําหรับคนที่ปลายจมูกเชิดไม่ควรใช้ซิลิโคน หรือวัสดุสังเคราะห์อื่นเพื่อดันให้จมูกยาวขึ้น เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป หนังบริเวณปลายจมูกจะบางลงและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการทะลุในที่สุด
คนที่เนื้อจมูกหนาปลายจมูกสามารถทนแรงกระทําจากซิลิโคน หรือ วัสดุแข็งกว่า ได้ดีกว่าคนที่เนื้อจมูกบาง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น การทะลุ หรือมองเห็นปลายซลิโคนได้น้อยกว่า ในทางกลับกัน คนที่เนือจมูกบางมีความเสี่ยงที่จะเกิดซิลิโคนทะลุหรือมองเห็นวัสดุเสริมมากกว่าคนที่เนื้อจมูกหนา
วิธีเลือก “ทรงจมูก” ให้เหมาะกับ ใบหน้า
คําถามยอดฮิตของผู้ที่คิดจะทําศัลยกรรมตกแต่ง โดยเฉพาะการเสริมจมูก มักจะหนีไม่พ้นคําถามที่ว่า จะเลือกจมูกทรงไหนดี? หนุ่มๆ สาวๆ ที่คร่ำหวอดในวงการศัลยกรรมก็มีเทคนิคต่างๆกันไป หลายคนใช้วิธีการเข้าอินเตอร์เน็ตหาภาพดารานักแสดงที่เป็นที่นิยมเพื่อเลือกทรงจมูกที่ตัวเองชอบที่สุดแล้วนําไปให้ศัลยแพทย์ดูเป็นตัวอย่าง บางคนใช้วิธีปรึกษาหมอดูให้ช่วย ดูโหงวเฮ้งว่าควรจะเป็นแบบไหน อย่างไร
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนคําถามชวนคิดก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าแบบจมูกที่เราชอบหรือที่เราเลือกมา เหมาะกับใบหน้าของเราหรือไม่?
ความสวยในโลกนี้มีหลายรูปแบบ จมูกที่สวยที่สุดในโลก ก็ไม่ได้ทำให้ ผู้หญิงทุกคนสวยที่สุด เราอาจเห็นดาราบางคนที่ทําจมูกมาอย่างสวยงาม แต่เมื่อดูรวมๆทั้งใบหน้าแล้วความมีเสน่ห์ที่เคยมีกลับน้อยลง หลายครั้ง ถึงขั้นเป็นข่าวครึกโครมในสังคมออนไลน์ หรือถูกพูดถึงในวงกว้าง
อีกอปสรรคที่สำคัญคือ หลังจากมีทรงจมูกที่ชอบในใจแล้ว จะสื่อสารอย่างไรให้ศัลยแพทย์เข้าใจตามที่เราคิดเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดศัพท์เทคนิค ขึ้นในวงการมากมาย เช่น ปลายพุ่ง ปลายเชิด ปลายหยดน้ำ สันเกาหลี สายฝรั่ง เป็นต้น
จะว่าไป ศัพท์เหล่านี้ถูกตีความต่างกัน เช่น ปลายเชิดที่เราคิด อาจเป็นคนละอย่างกับปลายเชิดของเพื่อนเรา และเป็นคนละอย่างกับปลายเชิดที่ศัลยแพทย์คิด ปลายหยดน้ำของบางคน อาจหมายถึงการที่จมูกคว่ำลงโดยที่มีจมูกยาวลงมาทางริมฝีปาก เป็นติ่งคล้ายหยดน้ำ แต่ในขณะที่อีกหลายคนอาจจินตนาการถึงภาพจมูกที่ปลายพุ่งออกมาด้านหน้า สูงกว่าสันเล็กน้อย เหมือนมีหยดน้ำวางอยู่ด้านบนของปลายจมูก
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และมักนำไปสู่หายนะคือการที่คนไข้เลือกทรงจมูกที่ชอบ อยากได้ และพยายามอธิบสยให้หมอฟัง แต่หมอแปลความไปเป็นอีกอย่างซึ่งตรงข้ามกับความคาดหวังของคนไข้อย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ฝ่ายศัลยแพทย์ โดยหลักการของศัลยศาสตร์ตกแต่งฯนั้น ตามตำราจะมีช่วงค่ากลาง ค่ามาตรฐานของจมูกที่สวย ในตําแหน่งต่างๆ เช่น มุมระหว่างหน้าผากกับดั้งจมูก องศาการเอียงของสันจมูก มุมระหว่างปลายจมูกกับริมฝีปากบน โดยช่วงค่ามาตรฐานต่างๆเหล่านี้ จะแตกต่างกันระหว่างจมูกของผู้ชายและผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น สันจมูกของผู้ชายจะดูดี ถ้ามีความเป็น เส้นตรงจากดั้งจมูก บริเวณหัวตาลงมาถึงปลายจมูก หรืออาจมีโหนก (hump) เล็กน้อยเพิ่มความแมนมากขึ้น
ในขณะที่ถ้าสันจมูกของผู้หญิงมีโหนก (hump) หรือตรงเกินไป จะทำให้ใบหน้าดูแข็ง ไม่อ่อนหวาน ดังนั้น การเสริมจมูกในผู้หญิงจึงอาจทําให้สันกับจมูกเว้าลงเล็กน้อยประมาณ 1-2 มิลลิเมตร จากเส้นตรงที่ลากจากดั้งจมูกบริเวณหว่างตาลงมาบริเวณปลายจมูก เพื่อที่จะคงความอ่อนหวานเอาไว้
นอกจากนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากในการพิจารณาทรงจมูกตามหลักการทางศัลยศาสตร์ตกแต่งฯ แต่อย่างลืมว่าความสวยไม่ได้มีเพียงแบบหรือบล๊อคเดียว ดังนั้นจึงไม่มีกฏตายตัวว่าจะต้องทำจมูกทุกคนให้เป็นแบบนั้น
แบบนี้ศัลยแพทย์ที่ดีจะฟังความต้องการของคนไข้ และนําไปประมวลผล กับช่วงค่าปกติของจมูกที่สวย ผนวกกับความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคการผ่าตัด และตัดสินใจร่วมกับคนไข้เพื่อหาแบบจมูกที่ดีที่สุดสําหรับคนไข้แต่ละราย
ปัจจุบันโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยอย่างมากในการช่วยสื่อสารความคิดระหว่างคนไข้และศัลยแพทย์ เพื่อลดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อันจะนํามาสู่ผลสําเร็จจากการผ่าตัดที่คาดหวัง โดยมีโปรแกรมหลายชนิดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นชนิด 2 หรือ 3 มิติ ทั้งนี้การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับความถนัดของศัลยแพทย์แต่ละคน แต่ทุกโปรแกรมในท้องตลาดปัจจุบัน มีหลักการเหมือนกัน คือเป็นสื่อที่ช่วยให้ศัลยแพทย์ นําภาพถ่ายของคนไข้มาดัดแปลง ปรับแต่งให้คล้ายคลึงกับภาพหลังผ่าตัดที่คาดหวัง โดยศัลยแพทย์จะสามารถแสดงสิ่งที่ตนเองคิดในสมองออกมาให้คนไข้มองเห็นเป็นรูปธรรมได้
ด้วยวิธีนี้คนไข้และศัลยแพทย์ ก็จะสามารถมองเห็นภาพหน้าเต็มของคนไข้ ที่คาดว่าจะเป็นหลังผ่าตัด และติชมปรับภาพในรายละเอียดร่วมกันเพื่อสร้างเป้าหมายที่ดีที่สุด และเป็นไปได้จริง
สิ่งที่คนไข้ต้องรับทราบ และตระหนัก คือการปรับภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ง่ายกว่าการผ่าตัดจริงมาก เพราะการผ่าตัดจริงมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นลักษณะโครงสร้างภายในที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล พังผืดแผลเป็นจากการผ่าตัดครั้งก่อน การหายของแผลที่ต่างกัน ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ดังนั้น คนไข้ต้องเข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผลการผ่าตัดจริงจะออกมาเหมือนภาพ ที่ปรับด้วยคอมพิวเตอร์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลการผ่าตัดจริงอาจทำได้เพียง 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของภาพจําลอง หรือน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยของคนไข้แต่ละราย
อย่างไรก็ตาม การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะช่วยป้องกันการเข้าใจผิดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ระหว่างคนไข้กับศัลยแพทย์ นอกจากนั้นยังทำให้ทั้งคนไข้และศัลยแพทย์ สามารถประเมินความสวยงามโดยรวมทั้งใบหน้าก่อนผ่าตัดได้ เนื่องจากสามารถเห็นภาพจมูกที่ต้องการวางอยู่ใบหน้าของคนไข้ ได้เสมือนจริง ด้วยวิธีนี้เองผลการผ่าตัดอันเป็นที่น่าพอใจ ของทั้งคนไข้และ ศัลยแพทย์ ก็สามารถเป็นจริงได้
นอกจากวิธีดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีอีกมากมายที่สามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการเลือกแบบจมูกที่เหมาะสมกับคนไข้ได้ เช่น ศัลยแพทย์บางท่าน ที่ถนัดวาดรูป อาจใช้การวาดมาช่วยเป็นตัวกลางในการสื่อความเข้าใจกับคนไข้ หรือศัลยแพทย์บางท่านอาจใช้มือดึงจมูกปรับทรงจมูกคนไข้ให้เห็นหน้ากระจก เป็นต้น วิธีการต่างๆที่กล่าวมาไม่มีถูกไม่มีผิด การจะเลือกวิธี ใดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความถนัดของศัลยแพทย์ตกแต่งฯ และความพอใจของคนไข้เป็นหลัก
ความปลอดภัยในการผ่าตัดตกแต่งเสริมสวย เปรียบได้กับการข้ามถนนที่มีรถวิ่งอยู่ขวักไขว้ หากใครก็ตามที่รีบร้อนผลีผลามวิ่งเข้าไปโดยไม่ดูรถว่างให้ดี ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกรถชนบาดเจ็บ
แต่หากเราเลือกข้ามทางม้าลาย มองซ้ายมองขวาดูรถให้ดี และหาข้อมูล เลือกศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ที่มีประสบการณ์ ไว้ใจได้ เลือกวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญในการดมยาสลบ เลือกสถานพยาบาลที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน การข้ามถนนครั้งนี้ก็น่าจะประสบความสําเร็จไม่ถูกรถชนระหว่างทาง ถึงฝั่งฝันอย่างปลอดภัย และสวยสมใจปรารถนา…..
นพ. กิดากร กิระนันทวัฒน์