ผลแทรกซ้อน จากการเสริมจมูก และการป้องกัน

การผ่าตัดเสริมจมูกด้วยการเติมสิ่งอื่นเข้าไปในร่างกาย เช่นเนื้อเยื่อ หรือวัสดุสังเคราะห์ ถ้าเป็นเนื้อเยื่อของผู้ป่วยเองจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องมีเนื้อเยื่อเพียงพอ ต้องเจ็บสองแห่ง บางครั้งจมูกแบนมาก เนื้อเยื่อมีไม่เพียงพอ เลยจําเป็นต้องใช้สารอื่นเติมเข้าไปให้เพียงพอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่าสิ่งแปลกปลอมนอกร่างกาย (Foreign Body materials) วิธีการเติมสิ่งของเข้าไปบนดั้งจมูก ยังแบ่งตามกรรมวิธีออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ การผ่าตัดเสริมจมูกแบบแท่ง และการฉีดสารเติมเต็ม (filler)

การฉีดสารเติมเต็ม (Filler)

การที่จะฉีดได้ สิ่งของนี้จะต้องเป็นน้ำเป็นวุ้น หรือเป็นผงเล็กๆ ผสมน้ำหรือของเหลว จึงจะฉีดผ่านเข็มเข้าไปได้ สารที่ฉีดเข้าไปยังแบ่งอีกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • สารที่ฉีดเข้าไปแล้วคงอยู่ตลอดไป (Permanent Filler)

สารนี้จะอยู่คงตัวคงที่กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อของคนไข้ตลอดไป ระยะแรกจะดูสวยงามทุกรายแต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งร่างกายเริ่มรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยา เช่น อักเสบ แดงบวม เป็นๆหายๆ หรือไม่ก็สร้างพังผืดเป็นเส้นใยหุ้มทำให้เกิดเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ ยากต่อการแก้ไขรักษา ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ ซิลิโคนเหลว พาราฟิน และซิลิโคนผงผสมน้ำ (Bioplastic) เป็นต้น

  • สารที่ฉีดเข้าไปและสามารถละลายเองได้

สารพวกนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาให้อยู่ได้ประมาณ 1 ปี แล้วจึงค่อยๆละลายไปได้เอง เพราะหากให้อยู่ตลอดไป ก็จะเกิดปัญหาต่อร่างกายที่แก้ไขยาก อย่างไรก็ตามการฉีดสารเติมเต็มเข้าจมูกจําเป็นต้องฉีดโดยแพทย์ที่ชำนาญ เพราะหากผิดพลาด สารนี้อาจเข้าไปอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น ตา จมูก อาจทําให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นเน่าตาย หรือตาบอดได้ในระหว่างที่สารเหล่านี้ยังละลายไม่หมด ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น การอักเสบ บวมแดง ผิวหนังขรุขระ การบวมแบบถาวร สารเติมเต็มกลุ่มละลายได้มีหลายชนิด ที่นิยมกันมาก เช่น Hyaluronic acid เป็นต้น

ผลแทรกซ้อน จากการเสริมจมูก

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เมื่อมีด้านบวกก็ย่อมมีด้านลบเสมอ การเสริมจมูกไม่ว่าวิธีใด ก็อาจมีผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ มากน้อยแล้วแต่ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดได้เช่นกัน ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ

  • การติดเชื้อ

ซึ่งอาจแบ่งการติดเชื้อได้ 3 ระยะ

 
ภาพแสดงการผ่าตัดแก้ไขจมูกติดเชื้อจากการเสริมจมูก

ภาพแสดงการผ่าตัดแก้ไขจมูกติดเชื้อจากการเสริมจมูก

 

ระยะที่เกิดในสัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน มักมีสาเหตุมาจากการผ่าตัดที่ไม่สะอาดเพียงพอ มีเลือดคั่งอยู่ในจมูก ในโพรงจมูกมีเชื้อโรคอยู่แล้ว เช่น ไซนัสอักเสบ เป็นต้น หากมีอาการ ต้องรีบพบแพทย์ เอาตัวจมูกที่เป็นสิ่งแปลกปลอมออก ทําแผลให้สะอาด และให้ยาปฏิชีวนะ

ระยะเกิดในระยะสัปดาห์ที่ 2 ถึง 1 เดือน อาการก็จะคล้ายที่เกิดสัปดาห์แรก อาจมีอาการบวมก่อน มีน้ำเหลืองหรือหนองออกจากแผลในรูจมูก มีอาการเจ็บและแดง สาเหตุอาจมาจากการที่ผ่าตัดผสมกับการดูแลรักษาแผลไม่สะอาด มีน้ำมูกสิ่งสกปรกเข้าไปในแผล เป็นต้น การรักษาก็ทำเช่นเดียวที่เกิดระยะสัปดาห์แรก

ระยะหลัง 1 เดือนไปเป็นปี ๆ หรือหลายปี ผู้ป่วยอาจมีอาการ บวม เป็นๆ หายๆ แดง ร้อน หรือมีน้ำไหลออกจากในจมูก ลักษณะนี้สาเหตุอาจไม่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเชื้อโรคอาจมาจากการอักเสบของผิวหนังเนื้อเยื่อ กระดูกใกล้เคียง เช่น เป็นสิว ผิวหนังติดเชื้อ ไซนัสอักเสบ การอักเสบของเนื้อเยื่ออื่นแล้วมีเชื้อโรคมาที่จมูก ซึ่งพบน้อยมาก แต่หากพบก็ต้องรีบพบแพทย์เช่นกัน

 
ภาพแสดงลักษณะการเสริมจมูกที่เชิดมากจนผิดรูป

ภาพแสดงลักษณะการเสริมจมูกที่เชิดมากจนผิดรูป

 

โปรดระลึกไว้เสมอว่า ถ้าเราเสริมสิ่งแปลกปลอมเข้าร่างกาย แล้วเกิดการอักเสบ อย่ารีรอ หรือลังเลที่จะเก็บตัวจมูกนั้นไว้เพราะความเสียดาย จําเป็นต้องรีบเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไห้เร็วที่สุด แล้วรักษาแผลอักเสบ นั้นให้หายโดยเร็ว มิฉะนั้นถ้าเกิดทะลุผิวหนัง จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา

  • จมูกเบี้ยว/คด

เป็นผลแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ ซึ่งพบบ่อยที่สุด ถ้าเป็นในระยะสัปดาห์แรก ไม่เกิน 2 สัปดาห์ อาจจะเกิดจากการบวมของเนื้อเยื่อ และตัววัสดุเทียมที่เสริมเข้าไปยังขยับได้ ยังไม่ติดแน่นเหมือนปูนซีเมนต์ที่ยังไม่แห้ง ยังสามารถที่จะขยับดัดให้เข้าที่ได้ ดังนั้นจึงควรกลับไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง แต่ถ้าเกิน 2 สัปดาห์ไปแล้ว ยังเบี้ยว คดอยู่ วิธีรักษาคือต้องผ่าตัดเข้าไปแก้ไข เพราะไม่อาจขยับ หรือดัดได้แล้ว เนื่องจากวัสดุเสริมติดแน่นไปแล้ว

 
ภาพแสดงอาการจมูกเบี้ยว การผ่าตัดแก้จมูกเบี้ยว และซิลิโคนเดิมที่ถอดหลังการผ่าตัด

ภาพแสดงอาการจมูกเบี้ยว การผ่าตัดแก้จมูกเบี้ยว และซิลิโคนเดิมที่ถอดหลังการผ่าตัด

 

  • ผิวหนังบาง

การเสริมจมูกด้วยซิลิโคนหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ อาจเกิดแรงกดบน เนื้อเยื่อและผิวหนัง แรงกดสูงจะทําให้ผิวหนังต้านทานไม่ไหว ผิวจะบางไปเรื่อยๆ จนเกิดการทะลุได้ โดยเฉพาะบริเวณปลายจมูกในรายที่จมูกเตี้ย แต่แพทย์พยายามเสริมให้ปลายสูงมาก หรือจมูกสั้นแต่พยายามใส่แท่งซิลิโคนให้ยาว โดยไม่มีเนื้อเยื่ออื่น เช่น กระดูกอ่อน มาช่วยลดแรงกด แรงกดบนผิวหนังก็จะมากขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรง ประกอบกับเมื่อเวลาผ่านไป ผิวหนังคนเราก็จะบางลงตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ทําให้เกิดอันตรายในระยะยาว

การแก้ไข ต้องรีบถอดวัสดุเสริมออก ลดความยาว ลดความสูง ใช้เนื้อเยื่ออื่นมารอง เช่น กระดูกอ่อนจากใบหู ผิวหนังหนาๆ จากแถวหลัง หรือก้น เป็นต้น หรืออาจจะยกเลิกการใช้สิ่งแปลกปลอม เปลี่ยนมาใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เช่น กระดูกอ่อนอย่างเดียว เป็นต้น

 
ภาพแสดงอาการจมูกติดเชื้อ และจมูกทะลุหลังการเสริมจมูก

ภาพแสดงอาการจมูกติดเชื้อ และจมูกทะลุหลังการเสริมจมูก

 

  • ผิวหนังทะลุ

เป็นผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุด การแก้ไขให้กลับมาอย่างเดิมก็ยากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริเวณที่ทะลุนั้นเกิดบริเวณปลายจมูกจะเกิดเป็นแผลเป็นไปตลอดชีวิต การทะลุมักเกิดร่วมกับการติดเชื้อเป็นหนอง แล้วเนื้อเยื่อผิวหนังตาย และทะลุออกมา หากทะลุอยู่ในรูจมูกก็ยังพอแก้ไข ซ่อนแผลเป็นได้ ถ้าหากทะลุที่ปลายจมูกจะเกิดแผลเป็นตลอดไป ดังนั้น ถ้าเห็นว่ามีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ต้องรีบพบแพทย์ และรีบถอดวัสดุเสริมออก เพราะหากฝืนใส่ต่ออาจเกิดการทะลุได้

  • สันจมูกขรุขระ

ถ้าคลำบนสันจมูกแล้วพบสิ่งขรุขระบนสันจมูก โดยเฉพาะที่ทำผ่าตัดมานานเกิน 1 ปีไปแล้ว อาจเกิดจากมีพังผืด หรือแคลเซียมไปเกาะตามแคปซูลหรือเกาะซิลิโคนที่เสริมเข้าไป วิธีแก้ไขคือ ผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคนอันใหม่ชนิดนิ่มเข้าไปแทนชนิดแข็งอันเดิม

วิธีการป้องกัน ผลแทรกซ้อน

ก่อนการผ่าตัดเสริมจมูก ควรคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนทำ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีความจําเป็นหรือสําคัญหลักสําหรับชีวิต ไม่จําเป็นต้องรีบด่วนที่ต้องผ่าตัด ไม่เหมือนไส้ติ่งแตก ลําไส้ทะลุ ซึ่งไม่มีเวลาคอย ดังนั้นจึงควรไตร่ตรอง ศึกษาให้รอบคอบ โดยดูปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ความพร้อมของคนไข้

ตัวคนไข้จะต้องมีความพร้อม มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่มีแหล่งติดเชื้อในร่างกายในช่วงทําผ่าตัด เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ไข้หวัด โรคไต เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ เป็นต้น หรือทานยาบางอย่างที่อาจขัดขวางต่อการหายของแผล เช่น ยาคีโม ยาฆ่าเชื้อมะเร็ง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายด้วย

  • คลินิกหรือโรงพยาบาล

ควรเป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตเป็นกิจการสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจากกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้อง ยิ่งถ้าเป็นคลินิกเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งด้วยก็จะดี เพราะจะมีการตรวจจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ อีกทั้งคลินิกนั้นจะต้องสะอาด มีห้องผ่าตัดที่ผ่านฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกต้อง มีการเปลี่ยนเสื้อผ้าปลอดเชื้อ ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ผ่าตัด ห้องผ่าตัดควรแยกตัวออกต่างหาก จากห้องตรวจไม่ควรเดินเข้าออกได้โดยเสรี

  • แพทย์ผู้ผ่าตัด

ในขั้นตอนการผ่าตัดนั้นแพทย์จะต้องพิถีพิถันในการป้องกันการติดเชื้อ ใส่หมวก ผ้าปิดปาก และใส่เสื้อกาวน์ที่ฆ่าเชื้อ เป็นต้น มิใช่แค่ถุงมือคู่เดียวเพราะเป็นการผ่าตัดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย จำเป็นต้องป้องกันการติดเชื้อ

ขอทิ้งทายก่อนจบบทนี้ไว้อีกนิดว่า.…..

ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับการอบรมมาอย่างครบหลักสูตร จะมีความรู้และระมัดระวังในข้อพึงระวังค่อนข้างสูง ตามหลักวิชาการ ที่ได้รับการฝึกฝนและอบรมมาเป็นแรมปี ถึงแม้ว่าแพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิตทุกคนในประเทศไทยจะทําการผ่าตัดอะไรก็ได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่ความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาและป้องการผลข้างเคียงในการทําหัตถการ ย่อมแตกต่างกันอย่างมาก เช่นเดียวกับการเสริมจมูกที่ดูคล้ายจะง่าย แต่ประกอบด้วยแนวคิดและหลักการที่มีรายละเอียดมากมายที่แพทย์ได้รับอบรมมาอย่างดีจะต้องทราบ

แพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมด้านศัลยกรรมตกแต่งเสริงสร้างมาก่อน เมื่อต้องผ่าตัดเสริมสวยจะสามารถนําความรู้มาประยุกต์ใช้และสามารถแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดผลแทรกซ้อนได้อย่างมีหลักทางวิชาการ กว่าจะได้มาซึ่งศัลยแพทย์ตกแต่งแต่ละคน แพทย์ต้องผ่านงานเป็นแพทย์ทั่วไปก่อน 3 ปี จึงสามารถสอบคัดเลือกเพื่ออบรมต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือ อนุมัติจากแพทยสภา เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านศัลยศาสตร์ตกแต่ง และยังต้องทํางานอีก 2 ปี จึงจะเป็นสมาชิกของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทยได้ และปัจจุบันนี้มีสมาชิกอยู่เพียง 360 ท่าน เท่านั้น

“หากท่านมีข้อสงสัยต้องการข้อมูลด้านต่างๆ สามารถดูรายชื่อแพทย์เหล่านี้ได้ที่ เว็บไซต์ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย www.thprs.org”

ThPRS of Thailand