ศัลยกรรมชั้นตา ด้วยวิธีกรีดแผลตามความเหมาะสม

หลักการและวิธีการผ่าตัด 

วิธีนี้ทำโดยการกรีดเปิดแผล ใช้ความยาวที่ความเหมาะสมกับลักษณะเปลือกตา ร่วมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งจะไม่เหมือนกัน แต่แพทย์จะพยายามจำกัดความยาวของรอยแผลให้สั้นที่สุด ในอดีต นิยมกรีดเปิดแผลจนถึงปลายหางตา และหากแผลยาวเกินขอบกระดูกเบ้าตาด้านข้าง จะทำให้รอยแผลเป็น อยู่นอกรอยพับชั้นตาโดยธรรมชาติ ทำให้สังเกตเห็นได้ชัด เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากในภายหลัง 

วิธีที่เหมาะสม คือหลีกเลี่ยงบาดแผลที่ยาวเกินความจำเป็น จึงเลือกเปิดแผลในความยาวที่เหมาะกับปัญหาของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดแต่ละคน (Customized limited incision) ซึ่งรอยแผลจะเริ่มจากบริเวณใกล้หัวตา และยาวไปตามรอยพับชั้นตา ที่ต้องการอีกประมาณ 1.5 -2 ซม.  ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของความยาวตาหรือมากกว่าเล็กน้อย 

ใครที่เหมาะกับการกรีดตาแบบ เปิดแผลตามความเหมาะสม?

การผ่าตัดทำตาสองชั้นด้วยวิธีกรีด แบบเปิดแผลตามความเหมาะสม นั้น เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย และเป็นวิธีเดียวสำหรับคนที่มีหนังตาส่วนเกินที่จำเป็นต้องตัดออก แผลเป็นจากการผ่าตัดจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เพราะจะอยู่ในรอยชั้นตาเหมือนกับชั้นตาตามธรรมชาติ

การกรีดแบบเปิดแผลตามความเหมาะสม” มีข้อดีอย่างไรบ้าง?

วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด เห็นโครงสร้างของเปลือกตาได้ชัดเจน จึงตัดไขมันส่วนเกินออกได้ง่าย สังเกตจุดเลือดออกระหว่างผ่าตัดและห้ามเลือดได้รวดเร็ว ตัดเนื้อเยื่อที่ขัดขวางการสร้างชั้นตาออกได้หมด     ทำให้ชั้นตาที่ออกมามีความชัดเจน สวยงาม และโอกาสที่ไหมเย็บชั้นตาจะหลุดออกมานั้นเกิดได้น้อยมาก  นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนมีปัญหากลุ่มไขมันใต้ผิวหนังบริเวณคิ้ว (Retro Orbicularis Occuli fat) มีขนาดหนาและใหญ่ หรือคนที่มีต่อมน้ำตาใต้เปลือกตาหย่อนคล้อย ทำให้เกิดลักษณะหนังตาอูม การผ่าตัดโดยวิธีกรีด เปิดแผลตามความเหมาะสม จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทำให้ชั้นตาหลังผ่าตัดคมชัด ดูมีมิติและสวยงามยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การบวมช้ำจากการผ่าตัดจะเกิดน้อยมากเพราะสามารถห้ามเลือดได้อย่างดี

  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีหนังตาอูม หรือหนังบริเวณหางตาย้อยมาก หรือชั้นตาหลบใน จำเป็นต้องใช้วิธีกรีดเปิดแผลยาวๆ เพื่อตัดหนังตาออกให้ได้มาก เพราะลักษณะตำแหน่งของชั้นตาและความคล้อยของผิวหนังเปลือกตา มีความสัมพันธ์อย่างมากกับตำแหน่งของคิ้ว เมื่ออายุมากขึ้นไม่เพียงแต่หนังตาจะมีความหย่อนคล้อย แต่บางคนยังประสบปัญหาคิ้วตกร่วมด้วย 

จะสังเกตเห็นว่า เมื่อเรายักคิ้วสูงขึ้น ผิวหนังเปลือกตาบนจะเรียบตึงขึ้น เห็นชั้นตาชัดมากขึ้น ในทางกลับกัน หากคิ้วลดระดับต่ำลงกว่าปกติ เช่นเวลาย่นคิ้ว จะทำให้ผิวหนังบริเวณเปลือกตาบน คล้อยลงมาบดบังชั้นตาได้มากขึ้น ดังนั้น หากแก้ไขปัญหาเรื่องคิ้วตกแล้ว บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องตัดผิวหนังบริเวณเปลือกตาออก หรือตัดออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่คนที่จำเป็นต้องตัดหนังตาออก มักจะเป็นกลุ่มคนสูงอายุ       ซึ่งผิวหนังหย่อนคล้อยมาก แต่ถ้าปรับตำแหน่งคิ้วที่ต่ำลงมาให้สูงขึ้นได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหนังตาออก หรือเอาออกแต่เพียงน้อยได้ เพราะหนังตามีความจำเป็นต่อการปิดตา 

ถ้าไม่มีหนังตาส่วนเกินที่ต้องตัดออก จะเลือกผ่าตัดด้วยวิธีใด

ในคนที่อายุยังน้อย ไม่มีปัญหาหนังตาหย่อนคล้อย สามารถเลือกวิธีผ่าตัด ทำตาสองชั้นได้ทุกวิธี ได้แก่ วิธีเย็บชั้นตาผ่านรูเจาะเล็กๆ วิธีกรีดเปิดแผลสั้น หรือกรีดเปิดแผลตามความเหมาะสม แต่หากแพทย์ตรวจพบว่ามีปัญหาเปลือกตาตกร่วมด้วย แม้ไม่มีหนังส่วนเกินที่ต้องตัดออก ก็จำเป็นต้องใช้วิธีกรีดเปิดแผลเท่านั้น เพื่อเข้าไปเย็บแก้ไขกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเปิดตา คนที่มีปัญหาเปลือกตาตก สังเกตได้ว่า มักจะมีลักษณะ ตาปรือดูเหมือนคนง่วงนอน และเมื่อต้องมองไปที่ใดสักจุด มักจะพยายามยักคิ้วเพื่อเปิดตาให้กว้างขึ้น จนบางคนมีรอยย่นที่ หน้าผากแบบถาวรจากการยักคิ้วบ่อยๆ

นอกจากนี้ การผ่าตัดที่ถูกต้องตามหลักการ มักจะมีรอยแผลเป็นอยู่ตามรอยพับชั้นตา ซึ่งจะดูเป็นธรรมชาติ ยากที่จะสังเกตเห็นรอยแผลเป็น ดังนั้นไม่ว่าจะทำตาด้วยวิธีไหน รอยแผลเป็นที่เกิดขึ้นก็แทบจะไม่ต่างกัน

 
Screen Shot 2563-06-08 at 20.02.47.png
 

การพักฟื้น หลังทำตา ด้วยวิธีกรีดเปิดแผลตามความเหมาะสม 

ผู้ผ่านการผ่าตัดทำตา สามารถปฎิบัติตัวเหมือนการผ่าตัดด้วยวิธีอื่นทั่วไป คือประคบเย็น1วัน และระวังอย่าให้แผลโดนน้ำแฉะมากเป็นเวลา 3 วัน รอยแผลไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดใดๆเป็นพิเศษ โดยทั่วไปอาจจะบวมเล็กน้อยช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ยุบบวมลง ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติตั้งแต่ 1-2 วันแรก หลังผ่าตัด อาจใส่แว่นตากันแดดเมื่อต้องออกไปเจอสภาพแวดล้อมข้างนอก และจะโดนน้ำได้ก็ต่อเมื่อผ่านการผ่าตัดไปแลว 4 วัน ซึ่งชั้นตาจะเริ่มเข้าที่เมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์ จากนั้นความยืดหยุ่นของผิวหนังบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด และชั้นตา จะดูเป็นธรรมชาติ ที่ห้วงเวลา 3-6 เดือน 

ข้อเสียและภาวะแทรกซ้อนของการเปิดแผลตามความเหมาะสม 

มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย การตอบสนองของร่างกายตามปกติ ยิ่งมีบาดแผลเกิดขึ้นกับร่างกายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะมีเลือดออกมากกว่า หรือมีปฏิกิริยาการอักเสบและการบวมมากกว่า ดังนั้นหลักการคือต้องเปิดแผลยาวเท่าที่จำเป็น และมีความเหมาะสมเพียงพอที่จะสามารถเข้าไปจัดการปัญหาในตำแหน่งต่างๆของเปลือกตาได้ วิธีที่เลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับการประเมินก่อนผ่าตัดและความถนัดของแพทย์ รวมถึงความต้องการ ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดด้วย 

ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยแต่อันตรายมากซึ่งมีโอกาสจะเกิดได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนผ่าตัด คือมีเลือดออกในชั้นเปลือกตาหลังเย็บปิดแผลแล้ว มักเกิดในช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ หากเลือดออกปริมาณมากจนความดันในลูกตาเพิ่มกว่าค่าวิกฤติ จะส่งผลต่อการมองเห็นได้ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดห้ามเลือดอย่างเร่งด่วน 

ผลแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยกว่าคือ ชั้นตาไม่เท่ากันหลังผ่าตัด เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ยังอยู่ในช่วงยุบบวมไม่สนิท หรือบางคนมีความชินในการยักคิ้วข้างใดข้างหนึ่งโดยไม่รู้ตัวส่งผลให้ชั้นตา สูงไม่เท่ากัน  การรักษามีตั้งแต่ติดตามประเมินอาการคือรอจนยุบบวม  การใช้ Botulinum toxin แก้ไขกรณีที่กล้ามเนื้อขยับ คิ้วแต่ละข้างทำงานไม่เท่ากัน จนถึงการผ่าตัดแก้ไข โดยภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมา สามารถพบได้ไม่ว่าจะผ่าตัดโดยใช้วิธีเปิดแผลแบบใด ดังนั้น ควรเลือกปรึกษาและผ่าตัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการประเมินและรักษา รวมถึงแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง

ศ.นพ. อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช

ThPRS of Thailand