ยกเครื่อง ศัลยกรรมกระดูกใบหน้า

คํากล่าวที่ว่า “การมีใบหน้าที่สวยงาม ดูเป็นมิตร และดึงดูด เป็นการเพิ่มโอกาสในชีวิตได้อีกมาก” เป็นคําอธิบายที่ดูจะไม่เกินจริง มากนัก เพราะหากมองให้ลึกลงไป คนที่ประสบความสําเร็จในชีวิต มีชื่อเสียงหรือโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในสังคม ล้วนมีใบหน้าที่เหมาะสม ลงตัว หรือ อาจถึงขั้นสวยงาม และดึงดูด

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีใบหน้าไม่สวยงามดูไม่เป็นมิตร ไม่ดึงดูด อาจจะต้องอาศัยความตั้งใจและพยายามอย่างมากในการทำให้เป็นที่ยอมรับ จึงจะได้รับโอกาสดีๆในชีวิต

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนใบหน้าเพื่อให้มีความสวยงาม ลงตัว จึงเป็นการแก้ไขความผิดรูปหรือไม่สมส่วนของใบหน้า หรือเป็นการส่งเสริมให้ใบหน้ามีความสมบูรณ์ และลงตัวมากยิ่งขึ้น การปรับเปลี่ยนใบหน้าให้ดีขึ้นนั้นมีวิธีการขั้นตอนต่างๆมากมาย

แต่เนื้อหาต่อไปนี้จะเน้นถึงการปรับเปลี่ยนโครงหน้าด้วยวิธีการผ่าตัดปรับกระดูกที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของใบหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้จะเป็นการผ่าตัดที่ยากและมีความเสี่ยงสูง แต่เป็นการรักษาที่ให้ผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และในหลายๆครั้งเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลที่สุดซึ่งอาจจะทําเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการผ่าตัดในลักษณะอื่นๆอีก เพื่อช่วยเสริมให้ผลการผ่าตัดออกมาได้ผลดีที่สุด มีความลงตัวที่สุด

แต่การทําศัลยกรรมโครงหน้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีโอกาสเสียเลือดมาก และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ จําเป็นต้องรู้จักวิธีการและวิธีเลือกสถานที่ทําการผ่าตัดด้วย เพื่อความปลอดภัยควบคู่ไปกับความงาม ที่เราต้องการ และอย่างน้อยก็มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทําศัลยกรรมโครงหน้าในแต่ละรูปแบบ ที่มาที่ไปของวิธีการผ่าตัด รายละเอียดวิธีการทํา ผลของการเปลี่ยนแปลงที่คาดไว้ ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมา การเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัด และการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไปแล้ว

รู้จริง ก่อนศัลยกรรม กระดูกใบหน้า

การศัลยกรรมเพื่อปรับโครงหน้า จําแนกการผ่าตัดเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ

1.การผ่าตัดศัลยกรรมกระดูกใบหน้า เช่นการผ่าตัดกระดูกกราม กระดูกคาง กระดูกโหนกแก้ม

2. การศัลยกรรมที่เนื้อเยื่อของใบหน้า เช่น การผ่าตัดไขมันกระพุ้ง

การผ่าตัดลดขนาดกล้ามเนื้อแก้ม การผ่าตัดดูดไขมันใบหน้า การฉีดเติมไขมันใบหน้า รวมถึงการผ่าตัดดึงหน้าหรือร้อยไหม เพื่อผลลัพธ์ของการปรับรูปหน้า ซึ่งการผ่าตัดในแต่ละแบบสามารถทําเพียงอย่างเดียว หรือหลายๆอย่างร่วมกัน เพื่อหวังผลของการผ่าตัดที่เพิ่มขึ้น ในด้านการปรับเปลี่ยนรูปหน้าให้ได้ใบหน้าที่สวยงามลงตัว

 
ภาพแสดงการเปรียบเทียบการผ่าตัดโครงหน้า ระหว่างการผ่าตัดขากรรไกร และการผ่าตัดปรับโครงหน้า

ภาพแสดงการเปรียบเทียบการผ่าตัดโครงหน้า ระหว่างการผ่าตัดขากรรไกร และการผ่าตัดปรับโครงหน้า

 

หากมีปัญหาการสบฟัน การบดเคี้ยวอาหาร หรือรูปหน้าที่ไม่ได้รูป จากตำแหนง่ของขากรรไกรที่ไม่เหมาะสม เช่นภาวะปากอูมมากหรือยิ้มเห็นเหงือกจากกระดูกกรามบนที่ยาวเกินไป ปัญหาต่างๆเหล่านี้จําเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกร จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทั้งศัลยแพทย์ ร่วมกับการจัดฟัน ซึ่งดูแลโดยทันตแพทย์จัดฟัน

รูปหน้า ที่สวยงาม

ในความเป็นจริงคนเราสามารถมีรูปร่างใบหน้าได้หลายแบบ แต่รูปแบบที่สวยงาม และเป็นที่ชื่นชอบนั้น ขึ้นอยู่กับค่านิยม เชื้อชาติ และ กาลเวลาด้วย ซึ่งรูปหน้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแถบเอเชีย คือใบหน้า รูปไข่ ซึ่งมีลักษณะเรียว ยาว ไม่กว้างจนเกินไป คางมีความแคบและยาว ที่เหมาะสม ดังจะเห็นได้จาก ดารา นักแสดงที่ประสบความสําเร็จทั้งในประเทศไทย เกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ทําให้หลายคนมีความต้องการที่จะปรับรูปหน้าให้เรียวยาว คล้ายบุคคลที่มีใบหน้างดงามดังกล่าว บริเวณที่มักจะมีปัญหา และได้รับการแก้ไขบ่อยๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน คือ โหนกแก้ม กราม และคาง โดยอาจมีความผิดปรกติร่วมกับการสบฟันหรือตําแหน่งของกระดูกขากรรไกรก็ได้ ซึ่งจําเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างถูกต้อง และ วางแผนการแก้ไขที่เหมาะสมในคนไข้แต่ละราย

ปรับโครงหน้า ด้วยวิธีศัลยกรรมโหนกแก้ม

คนเอเชียหรือในประเทศไทยนั้น มักจะมีใบหน้าที่ สั้นและกว้าง เมื่อเทียบกับคนในแถบตะวันตกหรือยุโรป การที่มีกระดูกโหนกแก้มที่นูนใหญ่ ร่วมกับการที่กระดูกกรามล่างมีความกว้าง และมุมกรามค่อนข้างใหญ่และกว้าง ทําให้ใบหน้าดูมีความเหลี่ยม มากกว่าที่จะเป็นใบหน้าเรียวยาวรูปไข่ ประกอบกับลักษณะของศีรษะที่มัก จะสั้นและกว้าง ทําให้ลักษณะโดยรวมออกมามีใบหน้ากลมใหญ่ ไม่เรียว ดั่งใบหน้าของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของค่านิยมในการทําาศัลยกรรม โครงหน้าให้มีใบหน้าที่เรียวและแคบลงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนลักษณะของรูปหน้าให้เป็นดั่งชาวตะวันตก ก็ใช่ว่าจะได้รับผลดีเสมอไป เพราะชาวเอเชียมีทัศนคติต่อคําว่าความงามและมีวัฒนธรรมที่ต่างออกไป เช่น การมีลักษณะโหนกแก้มที่ใหญ่และเด่นสำหรับชาวตะวันตก ถือเป็นลักษณะที่ดี บ่งบอกถึงความอ่อนเยาว์ แต่ไม่เป็นที่นิยมในเอเชียหรือในประเทศไทย เพราะผู้หญิงที่มีโหนกแก้มที่ใหญ่ บ่งบอกถึงลักษณะที่ดุ ก้าวร้าว แข็งแกร่ง ไม่น่าทะนุถนอม จึงทําให้มีความพยายาม แก้ไขลักษณะดังกล่าว ด้วยการศัลยกรรมลดโหนกแก้ม

วิธีการผ่าตัดศัลยกรรม ลดโหนกแก้ม

การทําาผ่าตัดศัลยกรรมลดโหนกแก้ม สามารถ ทําได้หลายวิธี โดยแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน

1. การศัลยกรรมลดโหนกแก้มแบบ 3 มิติ
2. การศัลยกรรมลดโหนกแก้มแบบไม่ยึด
3. การกรอกระดูกโหนกแก้ม

การทําผ่าตัดศัลยกรรมลดโหนกแก้ม เป็นการผ่าตัดเพื่อหวังผลในการเปลี่ยนลักษณะของโหนกแก้มที่นูนใหญ่ กว้าง หรือจมแบน ให้มีลักษณะแคบ เรียว รวมถึงทําให้ใบหน้ามีมิติมากขึ้น โดยการผ่าตัดลดกระดูกโหนกแก้มนี้ จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การตัดกระดูก การเคลื่อนที่ของชั้นกระดูก และการยึดตรึงกระดูก

เทคนิคการตัดกระดูกใบหน้า

ในแต่ละวิธีจะต้องมีการตัดกระดูกโหนกแก้ม ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง คือการตัดบริเวณด้านหน้า การตัดบริเวณด้านหลัง และการนำกระดูกโหนกแก้มออกบางส่วน ซึ่งจะตัดตําแหน่งใด จะเอากระดูกออกมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสภาพตั้งต้นและลักษณะที่ต้องการ ทั้งนี้การวิเคราะห์จากการตรวจร่างกาย ประกอบกับการดูภาพเอ็กซเรย์ประกอบ จะเป็นตัวช่วยบอกศัลยแพทย์ว่าต้องทําลักษณะใด มากน้อยเพียงใด

 
ภาพแสดงตําแหน่งของกระดูกโหนกแก้มที่จะได้รับการผ่าตัด แก้ไขในการผ่าตัดศัลยกรรมลดโหนกแก้ม

ภาพแสดงตําแหน่งของกระดูกโหนกแก้มที่จะได้รับการผ่าตัด แก้ไขในการผ่าตัดศัลยกรรมลดโหนกแก้ม

 

การตัดกระดูกโหนกแก้มทางด้านหน้า จะทําผ่านแผลในช่องปาก เพื่อทําการตัดกระดูกโหนกแก้มและเอากระดูกส่วนเกินออก ส่วนการตัด กระดูกโหนกแก้มทางด้านหลัง จะมีแผลภายนอกขนาดเล็กอยู่บริเวณหน้าหู เพื่อทําการตัดขาของกระดูกโหนกแก้มให้แยกตัวออก จึงทําการเคลื่อนที่ของกระดูกโหนกแก้มได้ ลักษณะของแผลหน้าหู มีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความถนัดของศัลยแพทย์และเทคนิคการผ่าตัด ที่แตกต่างกัน

 
ภาพแสดงตําแหน่งแผลผ่าตัด อาจลงบริเวณไรผม (สีเขียว) หน้าต่อไรผม (สีส้ม) หรือสามารถซ่อนไว้ที่ขอบหลัง ของไรผม เหนือแนวกระดูกโหนกแก้ม (สีแดง) ส่วนแผลในช่องปากนั้นจะมีความยาว 3-4 ซม. ที่บริเวณกระพุ้งเหงือกด้านบนทั้งสองข้าง (สีแดงประ)

ภาพแสดงตําแหน่งแผลผ่าตัด อาจลงบริเวณไรผม (สีเขียว) หน้าต่อไรผม (สีส้ม) หรือสามารถซ่อนไว้ที่ขอบหลัง ของไรผม เหนือแนวกระดูกโหนกแก้ม (สีแดง) ส่วนแผลในช่องปากนั้นจะมีความยาว 3-4 ซม. ที่บริเวณกระพุ้งเหงือกด้านบนทั้งสองข้าง (สีแดงประ)

 

การเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูก

หลังจากตัดชิ้นกระดูกโหนกแก้มเสร็จแล้ว ศัลยแพทย์จะเคลื่อนย้าย กระดูกโหนกแก้มไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมขึ้นกับสภาพของใบหน้าก่อนผ่าตัด ความกว้างหรือนูนของตัวกระดูกโหนกแก้ม หรือมิติของโหนกแก้มด้วย โดยปรับให้ใบหน้ามีลักษณะเรียวและแคบหากมองจากทางด้านหน้า และจะดูมีมิติขึ้นเมื่อมองมุมเฉียงหรือมองจากทางด้านข้าง

วิธีการเคลื่อนกระดูกโหนกแก้ม เพื่อให้เคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงในลักษณะ 3 มิตินั้น จะทําการเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูก ในแต่ละตําแหน่ง อย่างเหมาะสม การตัดและยุบโหนกแก้มทางด้านหน้าแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำการยุบขาของกระดูกโหนกแก้มทางด้านข้างด้วยนั้น อาจทำให้ได้ผลของการผ่าตัดไม่เต็มที่นักซึ่งอาจจะไม่เหมาะในรายที่ต้องการยุบกระดูกโหนกแก้มเป็นปริมาณปานกลางถึงมาก

 
ภาพประกอบ: แสดงการตัดกระดูกโหนกแก้ม และทําการเคลื่อนที่แบบ 3 มิติ

ภาพประกอบ: แสดงการตัดกระดูกโหนกแก้ม และทําการเคลื่อนที่แบบ 3 มิติ

 

การยึดตรึงกระดูก

หลังจากที่ทําการเคลื่อนที่ของกระดูกไปยังตําแหน่งที่ต้องการ และ ตรวจสอบแล้วว่าเป็นตําแหน่งที่เหมาะสมศัลยแพทย์จะทําการยึดตรึงชิ้นกระดูกให้อยู่กับที่ด้วยวัสดุยึดตรึงกระดูก โดยทั่วไปสามารถใช้ได้ทั้งวัสดุแผ่นโลหะไทเทเนียมและสกรู หรือมัดลวด แต่วิธีการใช้แผ่นโลหะไทเทเนียม และสกรู สามารถให้การยึดตรึงกระดูกได้ดีกว่า ทั้งในแง่ของความแข็งแรงในหลายมิติ และความมั่นคงมากกว่าการมัดด้วยลวด ส่วนจะทําการยึดตรึงกี่ตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับความถนัดของศัลยแพทย์เป็นหลัก ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกันคือความแข็งแรงของชิ้นกระดูกโหนกแก้ม ภายหลังการผ่าตัดที่เพียงพอเพื่อให้วัตถุประสงค์เดียวกันคือ ความแข็งแรงของชิ้นกระดูกโหนกแก้มภายหลังการผ่าตัดที่เพียงพอเพื่อให้ภายหลังผ่าตัดกระดูกที่ถูกตัดจะสามารถเชื่อมกันได้ แต่ถ้าการยึดตรึงกระดูกทำได้ไม่ดี อาจส่งผลให้มีการเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูกตลอดเวลา ทำให้ไม่เกิดการเชื่อมกันของกระดูกเกิดภาวะที่เรียกว่า กระดูกไม่ต่อ หรือมีภาวะเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งในภายหลัง ซึ่งโดยส่วนมากจะเคลื่อนต่ำลง เกิดภาวะแก้มห้อยย้อยได้ โดยส่วนตัวของผู้เขียนนิยมทำการยึดตรึงกระดูกโหนกแก้มทางด้านหน้าด้วยวัสดุโลหะไทเทเนียม 2 ตัว ส่วนทางด้านหลัง จะไม่ได้ทำการยึดกระดูก ซึ่งความแข็งแรงนั้นก็เพียงพอต่อการหายของกระดูก

 
ภาพแสดงลักษณะของกระดูกโหนกแก้ม ที่เคยได้รับการผ่าตัดแบบวิธีไม่ยึดตรึงกระดูก

ภาพแสดงลักษณะของกระดูกโหนกแก้ม ที่เคยได้รับการผ่าตัดแบบวิธีไม่ยึดตรึงกระดูก

 

จากภาพประกอบสังเกตได้ว่า มีรอยแยกของกระดูกโหนกแก้ม (ลูกศร) เกิดจากการไม่เชื่อมกันของกระดูกและมีการเคลื่อนตัวลงต่ำ ก่อให้เกิดภาวะแก้มห้อยได้

ส่วนการผ่าตัดลดโหนกแก้มด้วยวิธีกรอกระดูกนั้น ควรใช้เฉพาะกรณีที่ต้องการลดขนาดของกระดูกโหนกแก้มทางด้านหน้าเพียงเล็กน้อย เท่านั้น เพราะไม่สามารถลดความกว้างของกระดูกโหนกแก้มด้านข้างได้ เนื่องจากไม่ได้ตัดลดขนาดของกระดูกโหนกแก้ม และหากทําการกรอกระดูกออกด้วยวิธีนี้เป็นปริมาณมาก จะมีปัญหาตามมาคือมีการสูญเสียผิวกระดูกด้านนนอกซึ่งแข็งแรงกว่า และเรียบกว่า ต่อไปจะมีการกร่อนตัวอาจจะเห็นเป็นรอยขรุขระจากทางด้านนอกได้

ปัญหาที่อาจพบได้ ภายหลังการผ่าตัดลดโหนกแก้ม

1. อาการชาของริมฝีปากบน จากการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับ ความรู้สึก โดยทั่วไปมักเป็นแบบชั่วคราวและไม่รุนแรง หากไม่ได้มีการ บาดเจ็บรุนแรงโดยตรงที่ตัวเส้นประสาทนี้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้เองภายใน 1-2 เดือน

2. ภาวะโหนกแก้มสองข้างไม่เท่ากัน ส่วนมากโหนกแก้มทั้งสองข้างของคนเรา มักจะอยู่ในตําแหน่งที่ไม่เท่ากัน แพทย์ที่ทําผ่าตัดควรวิเคราะห์ให้เห็นและพยายามทําให้ความไม่เท่ากันนี้เกิดน้อยลง แต่ไม่สามารถทําให้เท่ากันได้แบบสมบูรณ์ ดังนั้น จําเป็นต้องมีการเปรียบเทียบรูปถ่ายก่อนและหลังผ่าตัด และบอกถึงภาวะนี้ให้ทราบตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด จะช่วยลดความ เข้าใจผิดนี้ลงได้มาก

3. ภาวะเนื้อแก้มห้อยย้อย เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเลาะเนื้อเยื่อออกออกจากกระดูกมากเกินไป

ในระหว่างการผ่าตัด มีการเคลื่อนต่ำลงของกระดูกโหนกแก้ม ในขั้นตอนการขยับของกระดูก มีการไม่เชื่อมติดกันของกระดูกโหนกแก้ม ทําให้มีการเคลื่อนตัวลงล่าง ก่อให้เกิดการห้อยย้อยของเนื้อแก้ม ดูมีอายุและขาด มิติ ของใบหน้าได้ปัจจัยที่อาจมีผลทําให้ปัญหานี้เกิดได้บ่อย ได้แก่ อายุของผู้รับการผ่าตัด ยิ่งถ้ามากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น การมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งหมายรวมถึงการที่มีไขมันบริเวณใบหน้ามากอาจจะพบภาวะนี้ได้บ่อยขึ้น การป้องกันแก้ไขประกอบด้วยการเลือกที่จะไม่ทําการผ่าตัดในคน ที่ความเสี่ยงสูง การผ่าตัดไม่เลาะเนื้อเยื่อออกจากกระดูกมากเกินไป การเคลื่อนตัวของกระดูกไปในทิศทางที่ไม่ต่ำลงมากนัก และการยึดตรึงกระดูก ด้วยความแข็งแรงเพียงพอและอีกปัจจัยหนึ่งคือการประคับประคองเนื้อของใบหน้าในช่วงแรกหลังการผ่าตัดด้วยผ้ารัดใบหน้า เพราะจะลดการห้อยของเนื้อเยื่อในระหว่างที่มีการบวมและหนักขึ้นได้ ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์และ คําชี้แนะของศัลยแพทย์แต่ละท่านที่อาจแตกต่างกันได้ด้วย

4. ภาวะกระดูกโหนกแก้มไม่ติดกันและมีการขยับได้

เกิดจากวิธีการผ่าตัดแบบไม่ยึดตรึงกระดูก หรือทําได้ไม่ดีพอ เกิดการขยับของชิ้นกระดูก ถ้าเป็นมาก กระดูกจะไม่เชื่อมติดกัน มีการอ้าออกของชิ้นกระดูกจนเห็นเป็นร่องกระดูกหรือขยับเวลาเคี้ยวอาหารได้ บางคนมีอาการเจ็บบริเวณที่มีการขยับได้ สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดแบบยึดตรึงกระดูกให้ แข็งแรงเพียงพอ

5. อาการอ้าปากได้ไม่สุด ในช่วงแรกจะอ้าปากได้ลําบาก เนื่องจากกระดูกโหนกแก้มที่ยุบเข้าไปกดกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการอ้าปาก ร่วมกับการบวมหลังผ่าตัด ทําให้อ้าปากได้น้อยลง ดังนั้นหลังการผ่าตัดราว 1 สัปดาห์ ควรได้รับการแนะนําในการฝึกอ้าปาก เพื่อให้กลับมาอ้าปากได้กว้างตามเดิม โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะทําให้การอ้าปาก กลับมาเป็นปกติตามเดิม

ศัลยกรรมลดกราม ปั้นหน้าให้ได้รูป

การผ่าตัดลดกรามนั้น ประกอบด้วยสองวิธีหลักๆ คือการผ่าตัดเอา มุมของกระดูกขากรรไกรล่างออก เพื่อให้รูปร่างใบหน้าส่วนล่างมีความเรียว และดูนุ่มนวล ส่วนอีกวิธีคือ การผ่าตัดเอาเปลือกนอกของกระดูกขากรรไกรล่างออก เป็นการเอากระดูกโครงสร้างชั้นนอกสุดจากสามชั้นออกไป เพื่อให้ใบหน้าส่วนล่าง มีขนาดเล็กลง ซึ่งวิธีการผ่าตัดท้ังสองรูปแบบ มีดังนี้

การผ่าตัดลดมุมกราม เป็นการผ่าตัดเพื่อต้องการตัดเอากระดูกส่วน มุมของขากรรไกรล่างออก ทําให้ลดความเป็นเหลี่ยมมุมของกรามล่างอย่างได้ผล และในบางคร้ัง มุมของกระดูกกรามล่างนี้มีการผายตัวออกด้านข้าง ทําให้มีความกว้างและใบหน้าดูเหลี่ยมเมื่อมองจากทางหน้าตรง การตัดเอามุมกรามออกจะเป็นการช่วยทําให้ใบหน้าดูเรียวขึ้นได้อีกเป็นอย่างมาก

 
ภาพแสดงลักษณะของกระดูกขากรรไกรล่าง ก่อนและหลังการผ่าตัดลดมุมกราม

ภาพแสดงลักษณะของกระดูกขากรรไกรล่าง ก่อนและหลังการผ่าตัดลดมุมกราม

 

การผ่าตัดลักษณะนี้สามารถทําได้ผ่านแผลในปากทั้งหมด และต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษในการตัดกระดูกในช่องปาก แต่ในบางครั้งจะมีการทําผ่าตัดผ่านแผลด้านนอกช่องปากซึ่งทำได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียคือการมีแผลเป็นซึ่งจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อทำการตัดมุมกรามออกไป ทั้งยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเส้นประสาทที่บริเวณใกล้เคียงได้มากกว่า ดังนั้นการผ่าตัดผ่านแผลในปากจึงได้รับความนิยมมากกว่า เพียงแต่ต้องอาศัยความชํานาญของศัลยแพทย์ และเครื่องมือที่เหมาะสมจึงจะทําได้อย่างปลอดภัย

ปัญหาที่อาจพบได้จาก การผ่าตัดลดมุมกราม

1. การเกิดมุมของกระดูกขากรรไกรล่างตําแหน่งใหม่ เกิดขึ้นได้จากลักษณะการตัดกระดูกออกไม่เหมาะสม โดยปกติแล้วแนวการตัดของกระดูกที่มุมกรามนี้ไม่ควรเป็นแนวตัดแบบตรง เพราะจะทําให้มีมุมเกิดขึ้นที่รอยต่อ ของกระดกูกรามสว่นทตี่ดัและไมไ่ดต้ดั ถงึแมว้า่จะทาําการกรอกระดกูใหเ้รยีบ แล้วก็ตาม ดังนั้นวิธีการตัดกระดูกที่เหมาะสม ควรตัดเป็นแนวโค้งยาว ไล่ ตั้งแต่ใต้ต่ิงหู ยาวเร่ือยมาจนถึงตําาแหน่งที่ต่อกับกระดูกคาง

2. การบาดเจ็บเส้นประสสทรับความรู้สึก อาการชาของริมฝีปากล่าง และคางหลังการผ่าตัดลดกราม เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย แต่ส่วนมากเกิดจากการ ดึงรั้งของเส้นประสาท ทําให้เกิดการบาดเจ็บ แบบไม่รุนแรง อาการชาน้ันจะเป็นแบบชั่วคราว แต่ถ้าการบาดเจ็บนั้นเกิดจากการตัดหรือฉีกขาดของตัวเส้นประสาท อาการชาจะเป็นมากและถาวร ดังนั้นในการผ่าตัดลดกรามจะต้องป้องกันการบาดเจ็บโดยตรงต่อเส้นประสาท การลดโอกาสบาดเจ็บมักทําได้โดยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบธรรมดา หรือถ้าจะให้ดีการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จะบอกได้แม่นยำกว่ามาก จากนั้นการทำการผ่าตัดอย่างนุ่มนวล มีการใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสมในการป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้มาก

3. การหักของกระดูกขากรรไกร ในการตัดกระดูกกรามล่าง วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการตัดกระดูกให้ขาดสนิทด้วยเครื่องมือประเภทเลื่อย แล้วดึงชิ้นกระดูกนั้นออก การที่ไม่สามารถตัดกระดูกให้ขาดหมดได้ แล้วทําการหักชิ้นกระดูก อาจก่อให้เกิดการหักของชิ้นกระดูกไปในทิศทางที่ไม่ต้องการ ได้ โดยเฉพาะถ้าการหักนั้นต่อเนื่องไปถึงตัวกระดูกขากรรไกร ทําให้เกิดการหักได้ ซึ่งจําเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยการจัดกระดูกและยึดด้วยเหล็กยึด กระดูกขากรรไกร อาจร่วมกับการมัดฟันหลังผ่าตัด ซึ่งมำให้การใช้ชีวิตยุ่งยาก และลำบากขึ้นได้ ยิ่งถ้าไม่มีความคุ้นเคยกับการรักษากระดูกกรามหักมาก่อนอาจก่อให้เกิดปัญหารุนแรงได้

4. การบาดเจ็บเส้นเลือดและเส้นประสาทใบหน้าบริเวณรอบๆของกระดูกขากรรไกรล่าง มีเส้นเลือดใหญ่หลายเส้นทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ รวมถึงเส้นประสาทใบหน้าที่ทําหน้าที่ในการขยับกล้ามเนื้อใบหน้า หากระหว่างผ่าตัดมีการบาดเจ็บเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือกระดูก แล้วการบาดเจ็บเส้นเลือดเหล่านี้อาจนํามาซึ่งการเสียเลือดมากระหว่างผ่าตัดได้ และถ้าบาดเจ็บเส้นประสาทใบหน้า จะทําให้การทํางานของกล้ามเนื้อเสียไป เกิดหน้าเบี้ยว มุมปากตก หรือยักคิ้วไม่ขึ้นได้

5. ใบหน้าสองข้างไม่เท่ากัน เป็นภาวะที่พบได้บ่อยแต่เพียงเล็กน้อยและเกิดจากการบวมในช่วงแรก ซึ่งไม่จำเป็นต้องบวมเท่ากัน หากรอจนยุบบวมดีแล้ว ความไม่เท่ากันมักจะดีขึ้นจนมองไม่เห็น แต่ถ้ายังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ต้องกลับมาดูว่าก่อนผ่าตัดมีความไม่เท่ากันอยู่มากน้อยเพียงใด อาจเป็นความไม่เท่ากันที่ดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีเหลืออยู่บ้างก็ได้ การที่ทําผ่าตัดแล้วมีความไม่เท่ากันอย่างมากนั้น เกิดจากการที่ไม่สามารถมองเห็นปัญหานี้ตั้งแต่แรก หรือมีความผิดพลาดในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอาจจําเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม

6. ใบหน้าไม่เรียวเท่าที่คาดหวังไว้ การที่จะลดขนาดของใบหน้าให้เรียวเล็กนั้น บางครั้งมีข้อจํากัด เพราะการลดแต่เพียงกระดูกโครงหน้า อาจไม่สามารถลดขนาดของใบหน้าได้มากนัก ขึ้นกับรูปร่างของศรีษะและโครงสร้างของใบหน้า ดังนั้นถ้าไม่สามารถวิเคราะห์ได้ดีแล้วมีการให้ความหวังกับผู้รับการผ่าตัดมากเกินไปจะทําให้เกิดปัญหาได้

การผ่าตัดปรับโครงหน้าอาจต้องมีการทําผ่าตัดอย่างอื่นร่วมด้วย เพื่อผลการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นการผ่าตัดลดขนาดของกล้ามเนื้อแก้ม การเอาไขมันกระพุ้งแก้มออก หรือการผ่าตัดดูดไขมันบริเวณใบหน้าและลำคอ อาจหมายรวมถึง การผ่าตัดดึงหน้าในกรณีที่มีความห้อยย้อยของใบหน้าอยู่แล้ว เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ ศัลยแพทย์ที่ทําการผ่าตัดควรวิเคราะห์และแจ้งความเสี่ยง รวมถึงข้อจํากัดที่มีประมาณผลการผ่าตัดอย่างเหมาะสมให้กับผู้รับการผ่าตัด จะได้ไม่เกิดการคาดหวังเกินความจริง และมีปัญหาเรื่องความไม่พอใจเกิดขึ้นตามมาได้

ศัลยกรรมคางต้องวางใจที่ ศัลยแพทย์มืออาชีพ

ส่วน “คาง” นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนกำหนดความยาวและเรียวของใบหน้า หากใบหน้าสั้น คางสั้น กว้าง และคางใหญ่ การปรับรูปคางให้มีความยาวที่มากขึ้นแคบและเรียวขึ้น จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ใบหน้าดูเรียวและน่ามองมากยิ่งขึ้น การผ่าตัดศัลยกรรมคางนั้นมีหลายวิธี ต้ังแต่ผ่าตัดเพื่อเสริมวัสดุซิลิโคนซึ่งทําได้ง่าย แต่บางครั้งไม่สามารถแก้ไขความผิดรูป หลายๆอย่างของคาง เช่นการยื่นหน้า การถอยหลัง หรือฐานคางกว้างมากๆได้ ดังนั้นการทําศัลยกรรมคางที่ปรับโครงสร้างของกระดูกคางจะเป็นทางออกที่ดีขึ้น

 
Screen Shot 2563-05-18 at 11.40.30.png
 

หากทําศัลยกรรมคางเพื่อให้ใบหน้าเรียวขึ้น พร้อมกับทําศัลยกรรมลดกราม เพื่อให้ใบหน้าเรียวแบบสมดุลนั้น จะเรียกว่า ทําศัลยกรรมวีไลน์ (V-line surgery) ซึ่งในปัจจุบันอาจนิยมรูปคางที่ไม่แหลมจนเกินไปนัก จึงอาจเรียกว่า การทําศัลยกรรมยูไลน์ (U-line surgery) ก็ได้

ขั้นตอนในการผ่าตัดศัลยกรรมคางนั้น อาศัยการวิเคราะห์สภาพของคางเดิม และการคาดคะเนรูปคางที่เหมาะสม ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด นำมาสู่วิธีการผ่าตัดที่ถูกต้อง หากต้องการลดความกว้างของกระดูกคาง จะทําการตัดกระดูกคางเป็นรูปตัว T และนำกระดูกคางส่วนกลางออก แล้วเคลื่อนกระดูกคางด้านข้างเข้ามาชิดกัน แล้วทําการกรอกระดูกส่วนอื่นให้เรียบ จากนั้นทําการยึดตรึงกระดูกคางด้วยวัสดุยึดตรึงกระดูกที่เหมาะสม

การผ่าตัดวีไลน์มีการลดขนาดมุมกราม และความกว้างของกระดูกคางพร้อมกัน

ในคนที่มีคางยาวเกินไป ต้องการลดความยาวของกระดูกคาง จะทำให้ใบหน้าดูสั้นลง จากนั้นทำการกรอกระดูกกรามส่วนอื่นๆให้เรียบ แล้วทําการยึดตรึงกระดูกคาง เช่นเดียวกับการผ่าตัดลดความยาวคาง มีการนำกระดูกคางออกทำให้คางสั้นลง และเรียวขึ้น

 
Screen Shot 2563-05-18 at 11.42.19.png
 

นพ.พีรศักดิ์ ฉอตระการกิจ

ThPRS of Thailand